KBANK จับมือ EXIM BANK เปิดบริการสินเชื่อให้ผู้ส่งออกแบบมีประกัน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 10, 2009 11:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย(KBANK)กล่าวหลังการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภายใต้บริการประกันการส่งออกกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(EXIM BANK)เปิดให้บริการ"สินเชื่อเพื่อการค้าระหว่างประเทศแบบมีประกันการส่งออก กสิกรไทย (K-Insured-Export Credit)"วางเป้าหมายมีผู้ขอสินเชื่อในปีนี้ 4,000 ล้านบาท

ปัญหาวิกฤตการเงินโลกส่งผลให้ยอดการส่งออกหดตัวอย่างรุนแรง ผู้ส่งออกต้องประสบปัญหาด้านความเสี่ยงจากความสามารถในการชำระเงินของคู่ค้าต่างประเทศลดลง หรือได้รับการชำระเงินล่าช้า ทำให้ผู้ส่งออกขาดสภาพคล่องของเงินทุนหมุนเวียนทางธุรกิจ สินเชื่อดังกล่าวจะช่วยเหลือผู้ส่งออกอย่างครบวงจร ทั้งการคุ้มครองการส่งออก และสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนทางธุรกิจ

ผู้ส่งออกสามารถขอรับบริการประกันการส่งออกของ EXIM BANK (EXIMSurance)ผ่านธนาคารเพื่อคุ้มครองวงเงินตามมูลค่าส่งออกจากการผิดนัดชำระเงินของคู่ค้าต่างประเทศ แล้วสามารถนำกรมธรรม์ประกันการส่งออกดังกล่าวมาขอสินเชื่อกับธนาคาร เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนทางธุรกิจ โดยไม่ต้องใช้หลักประกันอื่นเพิ่มเติม

บริการดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ส่งออกมีความมั่นใจในการส่งออก รวมทั้งขยายธุรกิจไปยังผู้ซื้อรายใหม่หรือตลาดใหม่เพื่อชดเชยการค้าที่ลดลงในตลาดส่งออกเดิม โดยไม่ต้องกังวลว่าจะไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าหรือประสบปัญหาขาดเงินทุนหมุนเวียนทางธุรกิจ ทำให้ผู้ส่งออกสามารถใช้เวลาในการบริหารกิจการและเพิ่มรอบการผลิตสินค้าได้เร็วขึ้น อันจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกและเศรษฐกิจไทย

ด้านนายอภิชัย บุญธีรวร กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า ธนาคารจะขยายความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เพิ่มมากขึ้น เพื่อขยายฐานลูกค้า EXIMSurance และส่งเสริมให้ผู้ส่งออกทำประกันการส่งออกทุกครั้ง เนื่องจากปัจจุบันคู่ค้าในต่างประเทศต่างประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้ความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าจากผู้ซื้อในต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะสาเหตุจากผู้ซื้อล้มละลาย

การจ่ายค่าสินไหมทดแทนของ EXIM BANK ในปี 50-52 ส่วนใหญ่เกิดจากสาเหตุผู้ซื้อไม่ชำระเงินค่าสินค้า 62.06% รองลงมาคือ ผู้ซื้อล้มละลาย 37.18% และผู้ซื้อปฏิเสธการรับมอบสินค้า 0.76% หากแบ่งตามประเภทอุตสาหกรรม 37.5% เป็นสินค้าประเภทอัญมณีและเครื่องประดับ รองลงมาได้แก่ อาหารกระป๋อง 16.67% เฟอร์นิเจอร์ 12.50% และเซรามิก 12.50%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ