นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ(ครม.เศรษฐกิจ)พิจารณาการพัฒนาระบบขนส่งระบบราง ปัญหาอุปสรรคและแนวทางการดำเนินงานตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยพบว่า โครงการต่างๆ ที่ ครม.ได้มีมติให้ดำเนินการก่อสร้างมีความคืบหน้าในระดับหนึ่ง
แต่ที่ประชุมฯ เห็นว่ากระทรวงคมนาคมควรนำเสนอแผนแม่บทการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทั้งระบบที่อยู่ระหว่างการศึกษาของสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรให้ ครม.เศรษฐกิจเห็นชอบก่อนดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป
"นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้สำนักนโยบายและแผนการขนส่ง(สนข.) และกระทรวงคมนาคมไปศึกษาแผนแม่บทการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนทั้งระบบมาใหม่ โดยให้เสร็จก่อนเดือน ส.ค. และนำเสนอ ครม.เศรษฐกิจพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อน เนื่องจากในสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เห็นชอบให้จัดทำแต่ยังไม่มีการเห็นชอบแผนแม่บทฯ" นายพุทธิพงษ์ กล่าวนอกจากนี้ รฟท.ยังมีโครงการรถไฟฟ้าเส้นทางใหม่เข้ามาเพิ่มเติม เช่น สายสีชมพู(แคราย(ศูนย์ราชการใหม่)-มีนบุรี-ปากเกร็ด) ระยะทาง 34.5 กม. จึงควรที่จะไปรวบรวมรายละเอียดมาให้ชัดเจน ซึ่งกระทรวงคมนาคมเร่งรัดนำเสนอโครงการพัฒนาทางรถไฟที่อยู่ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง เพื่อให้ ครม.ศก.พิจารณาต่อไป
ส่วนเรื่องแอร์พอร์ตเรลลิงค์นั้น นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า ให้ทำตามมติ ครม.เดิมคือการจัดตั้งบริษัทลูกและอยากให้โครงการนี้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2552 ไม่อยากให้มีการเลื่อนเวลาออกไปอีก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นใจให้กับนักลงทุนและนักท่องเที่ยว ทั้งนี้ควรหาเจ้าภาพหรือคนกลางเข้ามาเจรจากับสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ รฟท.เพื่อทำความเข้าใจโดยเร็ว
ส่วนการพัฒนาระบบรางส่วนใหญ่เป็นการพัฒนาโครงข่ายรถไฟทางคู่ โครงการก่อสร้างทางรถไฟระบบรางมาตรฐานเชื่อมโยงกับต่างประเทศ และการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เชื่อมโยง 4 เมืองหลัก คือ จ.นครราชสีมา จ.พิษณุโลก จ.ชลบุรี และ จ.เพชรบุรี กระทรวงคมนาคมควรพิจารณาความเหมาะสมด้านการลงทุน และผลประโยชน์ในการดำเนินการโดยละเอียด โดยเฉพาะการพัฒนารถไฟเชื่อมโยงระหว่างประเทศที่ต้องพิจารณาความเหมาะสมของจุดที่จะเชื่อมโยง และให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดนำเสนอโครงการพัฒนาทางรถไฟที่อยู่ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง เพื่อให้ ครม.พิจารณาต่อไป
"นายกรัฐมนตรีมอบให้นายโสภณ(ซารัมย์ รมว.คมนาคม) ไปหาข้อมูลดังกล่าวและให้ฝากทำความเข้าใจกับจีนในประเด็นที่หากจะสร้างผ่านประเทศเวียดนามเข้ามายังกัมพูชา ไทยก็พร้อมจะให้สร้างเข้ามายัง อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว หรือผ่านมายังพื้นที่ภาคอีสานของประเทศไทย นอกจากนี้ยังมอบให้กระทรวงคมนาคมไปศึกษาว่าหากจีนจะชะลอการสร้างเส้นทางรถไฟเข้าประเทศลาวจะเกิดปัญหาอะไรหรือไม่" นายพุทธิพงษ์ กล่าว