คลังสั่ง KTB พร้อม 6 แบงก์รัฐเพิ่มเป้าสินเชื่ออีก 3.2 แสนลบ.กระตุ้น ศก.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 21, 2009 16:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากการประชุมร่วมกับ นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง และผู้บริหารสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐนั้น ได้มอบหมายให้สถาบันการเงินของรัฐ 6 แห่ง พร้อมด้วย ธนาคารกรุงไทย(KTB) ปรับเพิ่มเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อในปี 52 รวมกันเป็น 1.25 ล้านล้านบาท

สถาบันการเงินของรัฐ ประกอบด้วย ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (I-Bank) เพิ่มเป้าสินเชื่อจาก 625,500 ล้านบาท เป็น 900,000 ล้านบาท

ขณะ KTB ปรับเพิ่มเป้าปล่อยสินเชื่อจาก 300,000 ล้านบาท เป็น 350,000 ล้านบาท เนื่องจาก KTB มีบทบาทการแข่งขันในเชิงพาณิชย์ และมีความสามารถในการปล่อยสินเชื่อได้ดี เห็นได้จากช่วงครึ่งปีแรก การปล่อยสินเชื่อของธนาคารขยายตัวได้ถึง 5% สวนทางกับการปล่อยสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ ที่หดตัว 2%

นายกอร์ปศักดิ์ เชื่อว่า การเร่งรัดให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐทั้ง 6 แห่ง และ KTB ปล่อยสินเชื่อมากขึ้นในช่วง 5 เดือนที่เหลือของปีนี้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากขณะนี้มีสัญญาณทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น อีกทั้งรัฐบาลมีโครงการลงทุนตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งที่จะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบในช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค.นี้

"เป้าหมายโดยรวมการปล่อยสินเชื่อปีนี้ทั้งของแบงก์กรุงไทยและ 6 สถาบันการเงินของรัฐ จะอยู่ที่ 1.25 ล้านล้านบาท เชื่อว่าน่าจะทำได้ ซึ่งเทียบปี 51 สถาบันของรัฐ 6 แห่ง ไม่รวมแบงก์กรุงไทย ปล่อยสินเชื่อได้ 810,570 ล้านบาท และครึ่งแรกของปีนี้ ปล่อยสินเชื่อไปได้ 423,310 ล้านบาท โดยที่ปัญหาเศรษฐกิจทำให้การปล่อยสินเชื่อชะลอตัวในไตรมาสแรก แต่ไตรมาส 2 เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น และภาวะเศรษฐกิจขณะนี้มีแนวโน้มที่ดีขึ้น จึงเป็น Timming ที่เหมาะสม" นายกอร์ปศักดิ์ กล่าว

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเพิ่มเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อครั้งนี้ เชื่อว่าจะไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) เพิ่มขึ้น เนื่องจากสถาบันการเงินแต่ละแห่ง มีกฎระเบียบในการอนุมัติสินเชื่ออยู่แล้ว

ด้าน นายกรณ์ กล่าวว่า สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ มีบทบาทสำคัญในการเข้าไปดูแลเศรษฐกิจ และมีผลทางสังคมในการเข้าถึงสินเชื่อ ส่วนความกังวลในเรื่องการเร่งรัดการปล่อยสินเชื่อตามนโยบายของรัฐบาล จะทำให้เกิดปัญหา NPLนั้น เห็นว่า หากสถาบันการเงินแห่งใด มีข้อเสนอที่จะให้มีการจัดแยกบัญชี PSA (Public Service Account) สามารถนำเสนอเพื่อให้รัฐรับรู้ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ