ธปท.คาดใช้มาสเตอร์แพลน 2 ใน Q4 เน้นลดต้นทุน-เพิ่มผู้เล่นใหม่-ปรับประสิทธิภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 13, 2009 19:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)คาดว่า ธปท.จะสามารถประกาศใช้แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(มาสเตอร์แพลน)ระยะที่ 2 ได้ภายในไตรมาส 4/52 หลังจากที่ได้หารือกับรมว.คลัง เมื่อปลายสัปดาห์ก่อน และสรุปแนวคิดตรงกันแล้ว

มาสเตอร์แพลน 2 เป็นแผน 5 ปี(ปี 52-56) มีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมความเข้มแข็งสถาบันการเงินไทย พัฒนาการแข่งขัน ซึ่งมีสาระสำคัญประมาณ 3-4 ด้าน ได้แก่ การลดต้นทุนการให้บริการ เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจมีต้นทุนการใช้บริการทางการเงินต่ำลง ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจ

นายบัณฑิต กล่าวว่า จุดหนึ่งที่จะสามารถลดต้นทุนของสถาบันการเงินได้คือการตั้งสำรอง โดยจะไม่มีการปรับเกณฑ์ในการตั้งสำรอง เพราะเป็นไปตามมาตรฐานสากลอยู่แล้ว แต่จะไปเร่งลดระดับสินทรัพย์รอการขาย(NPA) และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) มากกว่า โดยจะทำอย่างไรให้ NPA เกิดรายได้ขึ้นมา ซึ่งอาจจะสนับสนุนให้สถาบันการเงินไทยร่วมมือกับธุรกิจเอกชนเพื่อพัฒนา NPA

ปัจจุบัน NPL และ NPA ในระบบสถาบันการเงินไทย ณ สิ้น มิ.ย.อยู่ที่ 545 พันล้านบาท ขณะที่ NPA และ NPL ในบริษัทบริหารสินทรัพย์อยู่ที่ 489 พันล้านบาท เป็นต้นทุนต่อระบบเศรษฐกิจและระบบสถาบันการเงินอย่างมาก ถ้าลดลงได้ต้นทุนก็จะลดลงอย่างมาก

มาสเตอร์แพลน 2 ยังจะให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างประสิทธิภาพระบบสถาบันการเงินไทย ซึ่งตัวชี้วัดสำคัญคือส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย(NIM) ซึ่งล่าสุด NIM เฉลี่ยทั้งระบบในไตรมาส 2/52 อยู่ที่ 2.9% เชื่อว่าจะสามารถปรับลดลงได้ โดยการเพิ่มกลไกการแข่งขัน และเพิ่มผู้เล่นใหม่ผ่านการเปิดเสรี และเพิ่มประเภทธุรกิจที่สถาบันการเงินไทยสามารถทำได้ พร้อมกับลดบทบาทภาครัฐในธนาคารพาณิชย์ลง

นอกจากนั้น ในประเด็นการเข้าถึงบริการการเงิน จากการสำรวจของธปท.เห็นว่า 10% ของประชากรและภาคธุรกิจยังไม่เข้าถึงการบริหารของธนาคาพาณิชย์ ซึ่งจะต้องแก้ไขเพื่อสร้างโอกาสให้ธุรกิจเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้นและแก้ปัญหาการกระจายรายได้ด้วย

จุดหนึ่งคือเปิดให้มีผู้เล่นใหม่เข้ามาในธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ ซึ่งธนาคารแบงก์พาณิชย์ไทยอาจจะไปร่วมทุนไปทำธุรกิจนี้ได้ หรือใช้เอาท์เล็ตที่มีอยู่เพื่อขยายบริการได้ และเปิดให้ต่างชาติหรือผู้ประกอบการหน้าใหม่เข้ามาให้บริการทางการเงินที่สถาบันการเงินไทยยังไม่มีใครลงลึก เพราะยังไม่มีความชำนาญ

และ การบริหารความเสี่ยงของระบบธนาคารพาณิชย์ด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไม่ให้เสียเปรียบธนาคารต่างประเทศ ในแง่ของการบริหารความเสี่ยง การพัฒนาระบบเครดิต และ ระบบกฎหมาย

นายบัณฑิต กล่าวว่า กระทรวงการคลังและธปท.จะเชิญผู้บริหารสถาบันการเงินทั้งไทยและต่างประเทศเข้ามาร่วมประชุมเพื่อชี้แจงรายละเอียดของมาสเตอร์แพลน 2 ที่จะขยายบทบาทให้ธนาคารพาณิชย์ไทยสามารถทำธุรกรรมได้เพ่มขึ้น รวมถึงสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศในไทยด้วย ซึ่งจะทำให้ขยายสาขาได้เร็วขึ้นเพื่อทำธุรกิจได้มากขึ้น เปิดให้ผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาในสิ่งที่ไทยยังขาดอยู่

"แบงก์ไทยก็จะสามารถทำธุรกิจได้เหมือนเดิม และสามารถขยายได้เพิ่มขึ้น โดยแบงก์ชาติจะสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการขยายธุรกิจ แบงก์เล็กจะสามารถขยายเป็นแบงก์ใหญ่ได้ มีการควบรวมกิจการ พึ่งพากลไกทางการตลาดเป็นแรงขับ ดังนั้น ระบบภาษีไม่ควรจะเป็นอุปสรรคต่อการควบรวมกิจการ และเปิดให้แบงก์มีความเสรีในการเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงิน"นายบัณฑิต กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ