สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดปรับตัวลงเมื่อคืนนี้ (14 ส.ค.) เนื่องจากดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และราคาน้ำมันดิบดิ่งลงเกือบถึง 3 ดอลลาร์/บาร์เรล หลังจากที่มีการเปิดเผยข้อมูลความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐ ที่ลดทอนความน่าดึงดูดใจของทองคำในฐานะการลงทุนเพื่อเก็งกำไร
สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนธ.ค. ร่วงลง 7.80 ดอลลาร์ หรือ 0.4% ปิดที่ 948.70 ดอลลาร์/ออนซ์ หลังจากเคลื่อนตัวในช่วง 949.80-963.10 ดอลลาร์
ขณะที่สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย.ปิดที่ 14.722 ดอลลาร์/ออนซ์ ลดลง 26.5 เซนต์ และสัญญาโลหะทองแดงส่งมอบเดือนก.ค.ลดลง 7.80 เซนต์ ปิดที่ 2.8360 ดอลลาร์/ปอนด์
ส่วนสัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค.ปิดที่ 1261.70 ดอลลาร์/ออนซ์ ร่วงลง 11 ดอลลาร์ และสัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย.ปิดที่ 277.25 ดอลลาร์/ออนซ์ ลดลง 90 เซนต์
โดยสัญญาน้ำมันดิบ รวมถึงตลาดหุ้นวอลล์สตรีทได้รับแรงขายกดดัน หลังจากที่ได้มีการเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคช่วงต้นเดือนสิงหาคม ลดลงสู่ระดับ 63.2 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแค่เดือนมี.ค. ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 68.5 จากระดับ 66.0 ในช่วงปลายเดือนก.ค. โดยเมื่อเดือนพ.ย.ปีที่แล้ว ตัวเลขดังกล่าวร่วงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 30 ปีที่ 55.3
การเปิดเผยข้อมูลที่น่าผิดหวังล่าสุดนี้มีขึ้นเพียงหนึ่งวันหลังจากที่เมื่อวันพฤหัสบดี กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกในเดือนก.ค.ปรับตัวลดลง 0.1% ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.7%
ทั้งนี้ ผลสำรวจโดยรอยเตอร์/มหาวิทยาลัยมิชิแกนชี้ว่า ชาวอเมริกันจำนวนมากยังคงกังวลเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของตัวเอง ทำให้ยังไม่กล้าใช้จ่าย แม้จะเชื่อว่าเศรษฐกิจในภาพรวมจะดีขึ้นก็ตาม ซึ่งการใช้จ่ายของผู้บริโภคนับว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อการที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวขึ้นจากภาวะถดถอย เนื่องจากคิดเป็นสัดส่วนถึง 2 ใน 3 หรือราว 70% ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดในสหรัฐ
ขณะเดียวกันในตลาดปริวัตรเงินตรา ดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเกือบ 2 เซนต์ เมื่อเทียบยูโร หลังจากที่อ่อนตัวมา 3 วัน ได้ลดความน่าดึงดูดใจให้เทรดเดอร์เข้าซื้อน้ำมันและโลหะมีค่าในฐานะการลงทุนทางเลือกเพื่อเก็งกำไรด้วยเช่นกัน