SCB คาด ศก.ไทยปีนี้หดตัว 4-4.5% ยังมีความเสี่ยงจากท่องเที่ยวหดตัวหนัก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 19, 2009 10:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์(SCB) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยปี 52 น่าจะหดตัวประมาณ 4-4.5% และจะกลับมาขยายตัวประมาณ 3.5-4% ในปี 53 โดยเห็นว่าเศรษฐกิจไทยถึงจุดต่ำสุดเมื่อไตรมาส 2 ที่ผ่านมาแล้ว และจะค่อยๆ ดีขึ้น

โดยปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทยกลับไม่ใช่การส่งออก แต่เป็นเรื่องของการท่องเที่ยวที่จะเห็นได้จากการหดตัวหนักเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ และแนวโน้มการฟื้นตัวจะช้าตามสภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะยุโรปที่จะฟื้นตัวช้ากว่าภูมิภาคอื่นๆ รวมถึงความไม่สงบทางด้านการเมืองที่ผ่านมาของไทยเอง โดยการท่องเที่ยวที่หดตัวลงมีผลสำคัญต่อภาพรวมเศรษฐกิจของไทย เนื่องจาก ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร และการค้าปลีก มีการจ้างงานโดย SMEs ในสัดส่วนที่สูงกว่าภาคการผลิตมาก คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 80-90% เมื่อเทียบการจ้างงานโดย SMEs ในกลุ่มการผลิตอุตสาหกรรมมีจ้างงานรวมไม่ถึง 30%

"จากวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ส่งผลมายังเศรษฐกิจไทยใน 2 ภาคหลัก คือ ภาคการส่งออก และภาคการท่องเที่ยว โดยที่ยอดการส่งออกได้ลดลงจากจุดสูงสุดมายังจุดต่ำสุดประมาณ 40% ทำให้ภาคการผลิตอุตสาหกรรมมีการหดตัวสูงเป็นประวัติการณ์ โดยอยู่ที่ประมาณ 20% แต่สัญญาณที่ดีก็คือ ตัวชี้วัดต่างๆ ของเศรษฐกิจโลก แสดงให้เห็นว่า น่าจะใกล้ถึงจุดต่ำสุดแล้ว โดยภาคการผลิตอุตสาหกรรมจะเริ่มดีขึ้น" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

ด้านนายณัฐวุฒิ สัจจพุทธวงค์ นักเศรษฐศาสตร์การเงินอาวุโส SCB กล่าวว่า ทิศทางค่าเงินและการบริหารความเสี่ยงทางการเงินในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ค่าเงินบาทของไทยเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ เมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และเงินสกุลอื่นๆ อีกหลายสกุล อันเป็นผลมาจากการไหลเข้าของเงินตราต่างประเทศที่เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น ทั้งในส่วนของดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลบัญชีเงินทุน

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มคาดว่าจะมีเงินตราต่างประเทศไหลเข้ามายังประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งตลาดเงินยังคงมีความเปราะบางและผันผวนอยู่ค่อนข้างมาก อาจจะส่งผลให้ค่าเงินบาทมีความผันผวนเพิ่มสูงขึ้นได้ในอนาคต ผู้ประกอบการควรจะให้ความสนใจต่อการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้นเพื่อป้องกันมิให้รายรับและผลกำไรของธุรกิจผันผวนไปตามสภาพตลาดการเงิน

นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปีที่เศรษฐกิจโลกหดตัวจากวิกฤตการณ์สถาบันการเงินโลก ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกและภาคเศรษฐกิจสำคัญ รวมถึงก่อให้เกิดความผันผวนของค่าเงิน และการเคลื่อนย้ายเงินทุนทั่วโลก โดยช่วงที่ผ่านมารัฐบาลและธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ได้ดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและปล่อยสภาพคล่องให้แก่สถาบันการเงินสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แม้ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญที่ออกมาเริ่มแสดงสัญญาณของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจคงต้องใช้ระยะเวลาอีกระยะหนึ่งจึงจะกลับคืนเข้าสู่ภาวะปกติ

สำหรับภาวะเศรษฐกิจของไทยขณะนี้มีเสถียรภาพอยู่ในเกณฑ์ดี การส่งออกสินค้าและบริการไปต่างประเทศปรับตัวดีขึ้น แต่การขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกยังจะขยายตัวต่ำกว่าแนวโน้มในอดีตจากกำลังการผลิตส่วนเกินที่ยังคงมีอยู่ในระบบเศรษฐกิจ ดังนั้น SMEs ที่ประกอบธุรกิจการค้าระหว่างประเทศจำเป็นต้องให้ความสำคัญต่อการวางแผนธุรกิจ รวมถึงการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนให้มากขึ้น

อนึ่ง ธปท.ร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ จัดเสวนาใบโพธิ์ Business Forum เรื่อง แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจและแนวทางการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ประเมินภาวะเศรษฐกิจและการเงินครึ่งปีหลัง 2552 ให้ผู้ประกอบการในภาคตะวันออก เพื่อเตรียมแผนธุรกิจพร้อมรับมือการแข่งขันได้เมื่อภาวะวิกฤตคลี่คลาย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ