นักวิชาการรัฐ-เอกชนคาดจีดีพี Q2 หดตัว 5-6% แต่เริ่มเห็นสัญญาณ ศก.ฟื้น

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 21, 2009 10:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หลายสถาบันประสานเสียงคาด GDP ของไทยไตรมาส 2/52 ติดลบ 5-6% จากติดลบ 7.1% ในไตรมาส 1/52 แสดงให้เห็นว่ามีการฟื้นตัวขึ้นจากไตรมาสแรก แม้จะยังติดลบก็ตาม โดยเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาสแรกไปแล้ว ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยฉุด GDP ไตรมาส 2 ให้ดีขึ้น คือ สัญญาณการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่เริ่มฟื้นตัวจากคำสั่งซื้อที่ทยอยเข้ามา และการบริโภคภาคเอกชนที่เริ่มฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐเริ่มส่งผลดี

                สถาบัน                          GDP ไตรมาส 2/52
          สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง                    -5 ถึง -6%
          มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย                     -5 ถึง -6%
          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย                             -5.1%

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP)ของไทยในไตรมาส 2/52 ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)จะประกาศอย่างเป็นทางการในวันที่ 24 ส.ค.นี้ จะอยู่ที่ระดับ -5 ถึง -6% ซึ่งแม้จะยังหดตัวแต่ก็ดีขึ้นจากไตรมาส 1/52 ที่อยู่ในระดับ -7.1%

ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจในประเทศหลายตัวเริ่มปรับตัวดีขึ้น เช่น ตัวเลขการส่งออก อุตสาหกรรมการผลิตที่เริ่มผงกหัวขึ้น เช่น อิเล็กทรอนิกส์, เครื่องใช้ไฟฟ้า, ฮาร์ดดิสก์ และยานยนต์ เป็นต้น การบริโภคในประเทศที่ดูได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)ที่ติดลบน้อยลง ประกอบกับ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในรอบแรกที่เริ่มส่งผลให้เห็นในไตรมาส 2 บ้างแล้ว ขณะที่ปัจจัยด้านต่างประเทศจะพบว่าจีดีพีของหลายประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทยเริ่มดีขึ้น ทั้งสหรัฐและญี่ปุ่น

"เราดูไว้ว่าจะดีขึ้นกว่าไตรมาส 1 เพราะทิศทางมันดีขึ้น ปัจจัยต่างๆ เป็นบวกกว่าไตรมาสแรกเยอะ ทั้งส่งออก การบริโภค การผลิต ที่เริ่มผงกหัวขึ้นบ้างแม้จะยังลบอยู่ ประกอบกับ ปัจจัยจากเศรษฐกิจโลกในไตรมาส 2 ของทุกประเทศปรับตัวดีขึ้น ทั้งอเมริกา ญี่ปุ่น...ประมาณ -5 ถึง -6% น่าจะเป็นไปได้ ส่วนไตรมาส 3 จีดีพีจะติดลบน้อยลงอีก และจะกลับเป็นบวกแน่ในไตรมาส 4" ผอ.สศค.กล่าว

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เห็นสอดคล้องกับ สศค.โดยมองว่า GDP ไตรมาส 2/52 จะอยู่ที่ระดับ -5 ถึง -6% ถือว่าดีขึ้นจากไตรมาสแรก เนื่องจากเชื่อว่าในไตรมาส 2 ภาคการบริโภคและภาคการผลิตจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นจากปริมาณคำสั่งซื้อสินค้าที่จะส่งมอบในไตรมาส 3 จึงทำให้เริ่มมีการผลิตและส่งออกได้มากขึ้นตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2

"มองว่าจีดีพีไตรมาส 2 จะดีขึ้น เพราะภาคการผลิตรับรู้ order ในไตรมาส 3/52 จึงทำให้เริ่มผลิตสินค้ามากขึ้นในไตรมาส 2 แต่ยังเป็นการค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น เพราะสัญญาณดังกล่าวยังไม่ได้ถือว่าเพิ่มขึ้นสูงมากนัก" นายธนวรรธน์ ระบุ

นอกจากนี้ มาตรการต่างๆ ของภาครัฐยังช่วยหนุนให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2 ปรับตัวดีขึ้น เช่น โครงการเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท, โครงการเรียนฟรี 15 ปี, การขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณ 52 ซึ่งส่งผลให้เม็ดเงินเหล่านี้ลงไปกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนให้เริ่มมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

ขณะที่คาดว่าไตรมาส 3/52 เศรษฐกิจจะเริ่มติดลบน้อยลงมาที่ -2 ถึง -3% และคาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวเป็นบวกได้เล็กน้อยในช่วงไตรมาส 4/52 ที่ 1-2% แต่ทั้งปี 52 ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะอยู่ในระดับ -3.5%

ด้านบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/52 จะติดลบน้อยลงกว่าไตรมาส 1/52 มาอยู่ที่ 5.1% โดยปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เศรษฐกิจในไตรมาส 2/52 ปรับตัวดีขึ้น คือ การชะลอตัวของการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเริ่มน้อยลง การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น ทิศทางเศรษฐกิจไทยที่ค่อยเริ่มปรับตัวดีขึ้นจากผลของการเริ่มฟื้นตัวขึ้นของเศรษฐกิจโลกที่ทำให้คำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศเริ่มกลับคืนมา

นอกจากนี้ การผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้นส่งผลไปสู่การจ้างแรงงานกลับเข้าทำงาน ประกอบกับการใช้จ่ายเม็ดเงินของรัฐบาลภายใต้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งมีส่วนช่วยประคับประคองการใช้จ่ายของผู้บริโภคให้กระเตื้องขึ้นกว่าในไตรมาสแรก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของภาคการส่งออกผนวกกับผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการไทย น่าจะยังคงเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3/2552 มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ต้องเผชิญกับปัจจัยลบภายในประเทศที่สำคัญ คือ การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และสถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งอาจกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวและกิจกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคอยู่บ้าง


แท็ก จีดีพี   GDP  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ