In Focusครบรอบ 1 ปี"เลห์แมน บราเธอร์ส"ล้มละลาย บทเรียนราคาแพงและแผนล้อมคอกของสหรัฐ

ข่าวต่างประเทศ Tuesday September 15, 2009 14:18 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ย้อนไปเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2551 คงไม่มีข่าวไหนที่สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลกได้รุนแรงเท่ากับข่าวเลห์แมน บราเธอร์ส ประกาศล้มละลาย เพราะเป็นการล้มละลายครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์สถาบันการเงินของสหรัฐ และ ถือเป็นการปิดฉากวาณิชธนกิจที่มีอายุยาวนานถึง 158 ปี ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานตลาดการเงินทั่วโลกก็เผชิญกับ "แฮมเบอร์เกอร์ ไครซิส" อย่างเต็มรูปแบบ

ย้อนรอยชะตากรรมเลห์แมน บราเธอร์ส ช่วง 2-3 วันก่อนล้มละลาย

สถานะทางการเงินของเลห์แมน บราเธอร์ส ถูกสั่นคลอนมาตั้งแต่ช่วงปลายปีพ.ศ.2550 เนื่องจากการปล่อยกู้ให้กับลูกค้าที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ หรือ ซับไพรม์ ทำให้เลห์แมนขาดทุนติดต่อกันหลายไตรมาส กระทั่งวันที่ 10 กันยายน 2551 นักลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกพากันตื่นตระหนกและจับตาสถานการณ์ของเลห์แมนอย่างใกล้ชิด เมื่อผู้บริหารของเลห์แมนออกแถลงการณ์ว่า บริษัทมียอดขาดทุนไตรมาส 3 มูลค่า 3.9 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งมากที่สุดนับตั้งแต่มีการก่อตั้งบริษัทมานานถึง 158 ปี เนื่องจากบริษัทต้องปรับลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชี 5.6 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 2.2 พันล้านดอลลาร์

10 กันยายน 2551 เลห์แมน บราเธอร์ส เริ่มตระหนักว่าไม่อาจต้านทานการขาดทุนต่อไปได้จึงเริ่มดิ้นรนขอร่วมทุนกับสถาบันการเงินหลายแห่ง ได้แก่ แบงค์ ออฟ อเมริกา ธนาคารบาร์เคลย์สของอังกฤษ, ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเกาหลี (เคดีบี), โนมูระ ซิเคียวริตีส์ของญี่ปุ่น, ธนาคารบีเอ็นพี พาริบาส์ของฝรั่งเศส และ ดอยช์ แบงค์ แต่สถาบันการเงินเหล่านี้ล้วนปฏิเสธที่จะซื้อ หรือ ควบกิจการกับเลห์แมน เพราะต่างก็รู้ดีว่าการควบรวมกิจการกับเลห์แมน ก็คือการแบกรับภาระหนี้สินมหาศาลของเลห์แมนไว้บนบ่าด้วย

เมื่อสถานการณ์ของเลห์แมนเริ่มส่งแรงกระเพื่อมไปยังตลาดเงินและตลาดทุนของสหรัฐ หน่วยงานที่นั่งไม่ติดก็เห็นจะไม่พ้นกระทรวงการคลังสหรัฐ และธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) โดยเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2551 ทั้งเฟดและกระทรวงการคลังเปิดประชุมฉุกเฉิน ถกกันอย่างหน้าดำคร่ำเครียดเพื่อหาทางออกให้กับเลห์แมน ....แต่การประชุมจบลงด้วยข้อยุติที่ว่า รัฐบาลจะไม่นำงบประมาณออกมากู้วิกฤตของเลห์แมน ซึ่งเท่ากับปล่อยให้เลห์แมนดิ้นรนและเผชิญมรสุมทางการเงินด้วยตัวเอง

ต่อมาในวันที่ 15 กันยายน 2551 เลห์แมน บราเธอร์ส ตัดสินใจ "ผ่าทางตัน" ด้วยการยื่นขอความคุ้มครองทรัพย์สินตามกฎหมายล้มละลายที่ศาลแขวงนิวยอร์ก ข่าวการล้มละลายของเลห์แมนได้สร้างแรงสั่นสะเทือนทั่วระบบสถาบันการเงินของโลก ... ถือเป็นการปิดตำนานวาณิชธนกิจที่เก่าแก่และยืนยงอยู่คู่โลกแห่งทุนนิยมมานานถึง 158 ปี

รัฐบาล-ภาคเอกชนสหรัฐวิ่งโร่แก้ปัญหากันขาขวิด หลังเลห์แมน บราเธอร์ส ล้ม

การล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส ทำเอาโลกทุนนิยมทั้งใบสั่นคลอน เพราะแทบไม่มีใครเชื่อว่า "พี่ใหญ่" แห่งแวดวงสถาบันการเงินของสหรัฐจะม้วนเสื่อกลับบ้านก่อนเวลาอันควร ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินระดับหัวแถวมองว่า วิกฤติเศรษฐกิจโลกที่เป็นผลมาจากการล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์สนั้น เข้าข่าย "Great Depression" เพราะแรงกระเพื่อมของเลห์แมนส่งผลกระทบต่อภาคการเงินอย่างรุนแรงจนคาดไม่ถึง ที่กล่าวมานี้นับรวมถึงบริษัทประกันอันดับหนึ่งของโลก อเมริกัน อินเตอร์เนชันแนล กรุ๊ป (เอไอจี) ที่สั่นคลอนจนรัฐบาลสหรัฐต้องรีบควักเงินมหาศาลโอบอุ้มกิจการ...การล้มของวาณิชธนกิจระดับโลกอย่าง เลห์แมน บราเธอร์ส ถือเป็นหลักฐานยืนยันว่า "ฟองสบู่อเมริกัน" แตกอย่างเป็นทางการแล้ว และผลข้างเคียงจากวิกฤติฟองสบู่แตกในสหรัฐก็ส่งแรงกระเพื่อมลุกลามกลายเป็นคลื่นยักษ์ที่ซัดข้ามทวีปไปขึ้นฝั่งยุโรป จนธนาคารในยุโรปหลายแห่งล้มละลายหรือไม่ก็ปิดตัวเองเพื่อหนีตาย รวมถึงธนาคารยักษ์ใหญ่อย่าง ฟอร์ติส

ร้อนถึงเฟดที่ต้องออกโรงรับหน้าเสื่อแก้ไขปัญหา โดยเมื่อวันที่ 16 กันยายน เฟดได้อัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบการธนาคาร 7 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการเพิ่มสภาพคล่องครั้งใหญ่สุดในรอบ 7 ปี หรือนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์วินาศกรรมในสหรัฐเมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2544 โดยเฟดมีเป้าหมายที่จะลดความร้อนแรงของต้นทุนการกู้ยืมซึ่งเป็นผลมาจากการล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส จากนั้นเพียงไม่กี่วัน เฟดก็งัดมาตรการ "Money Market Investor Funding Facility" วงเงินรวม 5.40 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อกระตุ้นสภาพคล่องในระบบและผ่อนคลายความวิตกกังวลของสถาบันการเงิน

ไม่เพียงเท่านั้น ....กลุ่มสถาบันการเงินในสหรัฐ รวมถึง แบงค์ ออฟ อเมริกา, ซิตี้กรุ๊ป และเจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค ได้จัดตั้งกองทุนกู้ยืมมูลค่า 7 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อจัดหาสภาพคล่องในระบบการเงินสหรัฐ ขณะที่รัฐบาลสหรัฐเองก็ไม่ได้นิ่งเฉย เสนอสภาคองเกรสให้จัดสรรงบประมาณ 7 แสนล้านดอลลาร์เพื่อช่วยเหลือสถาบันการเงิน แต่ถึงกระนั้น มาร์ค ฟาเบอร์ กูรูการลงทุนชื่อดังระดับโลกมองว่ามาตรการดังกล่าวยังไม่มากพอที่จะฟื้นฟูภาคการเงินได้ โดยให้เหตุผลว่ารัฐบาลควรเลือกให้ความช่วยเหลือภาคอสังหาริมทรัพย์ก่อน เพราะวิกฤตสินเชื่อทั่วโลกรอบนี้เป็นผลพวงของภาวะตกต่ำในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐ ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถาบันการเงิน โดยยอดขาดทุนและตัวเลขการลดมูลค่าสินทรัพย์ทางบัญชีของสถาบันการเงินที่ลงทุนในตลาดซับไพรม์ มีมูลค่ารวมกันกว่า 5.20 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นเหตุให้เลห์แมน บราเธอร์ส ล้มละลาย

"บารัค โอบามา" อยู่ที่ไหน ในวันที่สหรัฐเผชิญวิกฤตเลห์แมน ล้มละลาย

หากย้อนกลับไปในวันที่ 16 กันยายน 2551 วันเดียวหลังจากเลห์แมน บราเธอร์สล้มละลาย หลายคนคงจำได้ว่า บารัค โอบามา ซึ่งในสมัยนั้นเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตที่จะไปชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการล้มละลายของเลห์แมน ผ่านทางสถานีโทรทัศน์ CNBC ว่า คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ จำเป็นต้อง "จับทิศทาง" ตลาดการเงินที่เปลี่ยนแปลงไปขณะนี้ให้ทัน และนักลงทุนไม่ต้องการเห็นประชาชนผู้เสียภาษีต้องได้รับผลกระทบในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้

โอบามาตำหนิว่า วิกฤตการณ์ในตลาดการเงินและตลาดอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้นเพราะความล้มเหลวของคณะทำงานประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ที่ไม่สามารถติดตามความเคลื่อนไหวในตลาดและไม่ได้นำระบบใหม่ๆมาใช้ อีกทั้งยังเหน็บแนมว่าคณะทำงานของบุชยังขาด "ภาวะผู้นำ" และไม่ได้ใช้มาตรการที่จริงจัง เพราะการล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส ได้สร้างความตื่นตระหนกและส่งผลกระทบไปทั่วโลก พร้อมกับทิ้งท้ายว่า นโยบายเศรษฐกิจที่ตื้นเขินของบุชเป็นต้นเหตุที่ให้ตลาดหุ้นและตลาดอสังหาริมทรัพย์สหรัฐตกต่ำอย่างน่าใจหาย

1 ปีผ่านไป ไวเหมือนโกหก

โอบามากลับขึ้นเวทีแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์สอีกครั้งในวันนี้ แต่ในฐานะประธานาธิบดีสหรัฐที่ต้องรับ "เผือกร้อน" ต่อจากอดีตประธานาธิบดีบุช มาคราวนี้เขาขึ้นกล่าวสุนทรพจน์เนื่องในวาระครบรอบ 1 ปีแห่งการล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส อดีตวาณิชธกิจรายใหญ่อันดับ 2 ของสหรัฐ ณ เฟดเดอรัล ฮอลล์ รัฐนิวยอร์ก และใช้เวทีนี้เตือนบรรดาผู้นำทางการเมืองในวอลล์สตรีทว่า ไม่ควรใช้ประเด็นเรื่องการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐเป็นข้ออ้างในการกลับไปดำเนินกิจการแบบ "หละหลวมและขาดความรับผิดชอบ" ที่จะนำไปสู่ภาวะล่มสลายครั้งใหม่

นับตั้งแต่โอบามาก้าวขึ้นมารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐ ทั้งตัวเขาเองและคณะทำงานของเขาก็ทุ่มเทความพยายามอย่างหนักที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจสหรัฐให้กับมาขยายตัวได้อีกครั้ง ความพยายามของรัฐบาลโอบามาช่วยให้กระแสความตื่นตระหนกจากวิกฤตเลห์แมน บราเธอร์ส เริ่มสงบลงตั้งแต่ต้นปี 2552 รวมถึงการที่เฟดเข้าไปโอบอุ้มปัญหาสภาพคล่องอย่างรวดเร็ว โดยใช้เม็ดเงินจำนวนมหาศาล ทั้งเรื่องการค้ำประกันตราสารหนี้และมีระบบที่รองรับความเสี่ยงดีกว่าในยุคของอดีตประธานาธิบดีบุช ซึ่งระบบการรองรับการฝากเงินในปัจจุบันของสหรัฐสามารถรองรับความไม่แน่นอนได้สูง

.. แต่นักวิเคราะห์หลายคนในวอลล์สตรีทมองว่ารัฐบาลโอบามาทำได้แค่เพียงใช้มาตรการ "ล้อมคอก" เพราะพิษภัยที่เกิดขึ้นจากการล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ ได้กัดเซาะรากฐานเศรษฐกิจอเมริกาไปแล้วอย่างหนักหน่วง และจะต้องใช้เวลาเยียวยาอีกหลายปีกว่าที่ทุกอย่างจะกลับสู่ภาวะปกติ นอกจากนี้ ยังมีคำถามตามมาว่ารัฐบาลสหรัฐจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้นานแค่ไหน เพราะรัฐบาลได้ก่อหนี้ไว้มาก ขณะที่ภาคเอกชนเองก็ยังไม่ได้แสดงเค้าลางว่าจะขยายการผลิตอย่างแท้จริง ทำได้ก็แค่การปรับยอดขาย ปรับสต็อก ไม่ถึงขั้นมีความเชื่อมั่นที่จะลงทุนต่อ ดังนั้น เศรษฐกิจที่ขาดภาคเอกชนมาลงทุนอย่างสหรัฐในยามนี้ คงบอกไม่ได้ว่า “ฟื้นตัว" จริงหรือไม่ !!!


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ