สหรัฐอาจเผชิญภาวะเงินฝืดเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ยุครัฐบาลประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ ซึ่งอาจกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ต้องตรึงดอกเบี้ยไว้ใกล้ระดับ 0% ตลอดทั้งปีหน้า
ผู้บริหารจากบริษัท โครเกอร์ เครือข่ายซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่สุดของสหรัฐ โทษว่าภาวะเงินฝืดเป็นสาเหตุที่ทำให้รายได้ของบริษัทลดลงถึง 7% ในช่วงไตรมาส 2 ในขณะเดียวกันราคาอาหาร น้ำมัน และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ลดลง ทำให้บริษัท คอสท์โค โฮลเซลล์ คอร์ป มียอดขายทรงตัวในเดือนสิงหาคม ซึ่งหากราคายังลดลงอย่างนี้ต่อไปอาจทำให้เกิดวงจรอุบาทว์ขึ้น โดยราคาสินค้าที่ลดลงจะทำให้กำไรของบริษัทลดลง นายจ้างก็จะลดค่าแรงและเงินเดือนของลูกจ้าง ส่งผลให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อลดลง ทำให้บริษัทมีกำไรลดลง ทำให้นายจ้างต้องลดค่าแรงและปลดพนักงานในที่สุด
โดยวงจรดังกล่าวเคยทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรงในสหรัฐเมื่อปีค.ศ. 1929 และเคยทำลายระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่นมาแล้วในช่วงทศวรรษ 1990
"ปัญหาเงินฝืดเป็นภัยคุกคามอย่างหนักในตอนนี้" โจเซฟ สติกลิตซ์ วัย 66 ปี เจ้าของรางวัลโนเบลและศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนิวยอร์ก ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา "ภาวะเงินฝืดและการที่เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างเชื่องช้าอาจทำให้เฟดต้องตรึงดอกเบี้ยไว้อีกสักพัก"ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานไม่นับรวมอาหารและพลังงานกำลังเผชิญกับภาวะเงินฝืด โดยขยายตัวเพียง 1.4% ในเดือนสิงหาคมเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และลดลงจากระดับ 2.5% ในเดือนกันยายนปีที่แล้ว สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงาน