ศูนย์วิจัยกสิกรฯ ปรับคาดการณ์ส่งออกปี 52 หดตัว 12-15% จากเดิม 14.5-17.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday October 21, 2009 17:39 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับเพิ่มคาดการณ์การส่งออกของไทยในปี 52 เป็นหดตัว 12.0-15.0% ดีขึ้นจากเดิมที่คาดว่าจะหดตัวถึง 14.5-17.5% และปรับคาดการณ์การนำเข้าในปีนี้หดตัว 24.0-28.0% จากเดิมคาดไว้ว่าจะหดตัว 25.5-29.0% นอกจากนั้นยังมองว่าแนวโน้มการส่งออกในไตรมาส 4/52 อาจขยายตัวมากกว่า 7.5%

การปรับคาดการณ์ดังกล่าวเป็นผลมาจากการส่งออกและการนำเข้าฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่คาดไว้ โดยการส่งออกในเดือน ก.ย.ปรับตัวดีขึ้นมาก หดตัวในอัตราชะลอลงมาอยู่ที่ 8.5% จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวถึง 18.4% นับเป็นอัตราการที่แข็งแกร่งที่สุดในรอบ 20 เดือน แม้ว่าการส่งออกในเดือนนี้ได้รับแรงหนุนจากการส่งออกทองคำที่ขยายตัวถึง 163% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่การส่งออกที่ไม่รวมทองคำก็มีทิศทางปรับตัวดีขึ้นเช่นเดียวกัน โดยหดตัวลง 12.7% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงอย่างมากจากที่หดตัว 20.2% ในเดือนก่อนหน้า

ทั้งนี้ การฟื้นตัวของการส่งออกที่มีอัตราเร่งที่เร็วกว่าการนำเข้า จะทำให้ดุลการค้าของไทยในปี 52 เกินดุลสูงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในระดับที่เกินกว่า 20,000 ล้านดอลลาร์ และอาจมีแนวโน้มที่จะเกินดุลต่อเนื่องในปี 53 จากปัจจัยภายในประเทศที่ไทยมีการเกินดุลการค้ามูลค่าสูง

และเมื่อรวมปัจจัยความเชื่อมั่นต่อค่าเงินดอลลาร์เริ่มถดถอยลง ซึ่งจะมีผลให้ค่าเงินบาทยังคงมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้นต่อไปได้อีก และอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันและกำไรของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ผลิตสินค้าที่ไม่มีความแตกต่างในตัวสินค้ามากนัก และผู้ซื้อค่อนข้างอ่อนไหวต่อปัจจัยราคา ซึ่งผู้ส่งออกควรหาแนวทางรับมือกับแนวโน้มค่าเงินที่แข็งค่า โดยการปรับตัวในระยะสั้นอาจทำได้โดยใช้เครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนอย่างเหมาะสม มีการเจรจากับลูกค้าเพื่อซื้อขายเป็นสกุลเงินอื่นนอกเหนือจากดอลลาร์ฯ และมีการกระจายความเสี่ยงของตลาดส่งออกให้หลากหลายขึ้น

ส่วนการปรับตัวในระยะปานกลางถึงระยะยาว ผู้ผลิตจะต้องสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าและการบริการ เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันในด้านราคา สำหรับปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องติดตาม ซึ่งอาจจะมีผลต่อธุรกิจส่งออกของไทยในระยะต่อไป เช่น ปัญหาสภาพคล่องของผู้ประกอบการ ภาวะตลาดแรงงานที่เริ่มตึงตัวในบางอุตสาหกรรม และมาตรการทางการค้าของประเทศคู่ค้าที่แต่ละประเทศมีแนวโน้มที่จะหันมาปกป้องตลาดภายในประเทศของตนมากยิ่งขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ