ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ข้อมูลเศรษฐกิจแข็งแกร่ง ฉุดดอลล์ร่วงเทียบสกุลเงินหลักๆ

ข่าวต่างประเทศ Tuesday November 3, 2009 07:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (2 พ.ย.) หลังจากสหรัฐเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่ดีเกินคาด ทำให้นักลงทุนลดความต้องการสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในฐานะแหล่งการลงทุนที่ปลอดภัย นอกจากนี้ ตลาดยังจับตาดูผลการประชุมและแถลงการณ์ภายหลังการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 4 พ.ย.นี้

บลูมเบิร์กรายงานว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลง 0.35% แตะที่ 1.4766 ยูโร/ดอลลาร์ จากระดับของวันศุกร์ที่ 1.4715 ยูโร/ดอลลาร์ และดิ่งลง 0.38% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ 1.0221 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.0260 ฟรังค์/ดอลลาร์

นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐร่วงลง 0.33% เมื่อเทียบกับเงินปอนด์ที่ 1.6392 ปอนด์/ดอลลาร์ จากระดับของวันศุกร์ที่ 1.6446 ปอนด์/ดอลลาร์ แต่ดีดตัวขึ้น 0.23% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ 90.290 เยน/ดอลลาร์ จากระดับ 90.080 เยน/ดอลลาร์

ส่วนค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียพุ่งขึ้น 0.47% แตะที่ 0.9033 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับของวันศุกร์ที่ 0.8991 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย และดอลลาร์นิวซีแลนด์ดิ่งลง 0.17% แตะที่ 0.7168 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.7180 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์

ไมเคิล วูลฟอล์ค นักวิเคราะห์จากแบงค์ ออฟ นิวยอร์ก เมลลอน กล่าวว่า ดอลลาร์สหรัฐร่วงลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆหลังจากสหรัฐเปิดเผยตัวเลขการใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเดือนก.ย.เพิ่มขึ้น 0.8% แตะที่ 9.403 แสนล้านดอลลาร์ หลังจากร่วงลง 0.1 % ในเดือนส.ค. สวนทางกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าตัวเลขการใช้จ่ายด้านการก่อสร้างจะลดลง 0.2%

นอกจากนี้ สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่าดัชนีภาคการผลิตเดือนต.ค.พุ่งขึ้นแตะ 55.7 จุด จากเดือนก.ย.ที่ 52.6 จุด มากกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าดัชนี ISM ภาคการผลิตเดือนต.ค.จะอยู่ที่ 53.0 จุด

นักลงทุนจับตาดูการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลียในช่วงเช้าวันนี้ โดยมีกระแสคาดการณ์ว่าธนาคารกลางจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ หลังจากประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% เป็น 3.25% จากเดิม 3.0% สวนทางกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 3% ในการประชุมครั้งก่อน พร้อมกับส่งสัญญาณว่าจะค่อยๆชะลอการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาดูการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในระหว่างันที่ 3-4 พ.ย. รวมทั้งการประชุมธนาคารกลางอังกฤษและธนาคารกลางยุโรปในวันที่ 5 พ.ย.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ