รมว.ไอซีที คาดแนวทางแปรสัญญาสัมปทานโทรมือถือชัดเจนภายในปี 53

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 9, 2009 13:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า ไอซีทีได้มอบหมายให้ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท.โทรคมนาคม ตรวจสอบสัญญาสัมปทานเดิมที่ทำไว้กับคู่สัญญา ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เพื่อพิจารณาแนวทางการแปรสัญญาสัมปทาน โดยให้ทบทวนว่าเงื่อนไขใดยังไม่ได้ดำเนินการตามสัญญา หรือได้ดำเนินการไปแล้วบ้าง ซึ่งกำหนดให้ได้ข้อสรุปภายในปี 53

"ได้ให้ไปดูสัญญาสัมปทาน เพราะไม่รู้ว่าสัญญากับทีโอทีเป็นยังไง นโยบายการแปรสัญญา มาดูว่าอะไรที่ยังไม่ทำ อันไหนขาดไป ต้องขอดูสัญญาให้เรียบร้อย ภายในปี 53 จะต้องให้จบ จะต้องครบชัดเจน...เราไม่ได้ยกเลิกสัญญาสัมปทาน" รมว.ไอซีที กล่าว

นายธีรวุฒิ บุญโสภณ ประธานกรรมการ บมจ.ทีโอที กล่าวว่า ทีโอที จะมีการพิจารณาการแก้ไขปรับปรุงสัญญาให้เป็นไปอย่างถูกต้อง ส่วนกรณีที่คู่สัญญาซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือจะโอนถ่ายลูกค้าจากระบบ 2G ไปยังระบบ 3G หากได้รับใบอนุญาตใหม่นั้น ก็ต้องมาพิจารณาก่อน รวมทั้งการนำทรัพย์สินของรัฐไปใช้ในกิจการที่ได้รับใบอนุญาตใหม่ด้วย

ด้านนายวิเชียร นาคสีนวล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ทีโอที กล่าวเพิ่มเติมว่า การแก้ไขปรับปรุงสัญญาให้ถูกต้องเพื่อกำหนดแนวทางการแปรสัญญาสัมปทาน โดยให้สอดคล้องกับที่ ครม.เศรษฐกิจได้เคยให้กระทรวงการคลังและ กระทรวงไอซีทีร่วมกันหาแนวทางการแก้ไขสัญญาสัมปทาน ซึ่งต้องนำเข้าสู่การหารือและเจรจาตามมาตรา 22 ขณะนี้ยังไม่ดำเนินการ ทั้งนี้ หากมีการแก้ไขสัญญาสัมปทาน บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC)ซึ่งเป็นคู่สัญญากับทีโอที ก็อาจมีโอกาสจะจบสัญญาสัปมทานก่อนกำหนดในปี 58 ก็ได้

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตีความว่า การแก้ไขสัมปทานระหว่าง กสท และทีโอทีที่ผ่านมา ไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมการงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุน) ซึ่งต้องนำเข้าสู่การหารือและเจรจาตามมาตรา 13 หรือ มาตรา 22 ของพ.ร.บ.ร่วมทุน

ส่วนกรณีความกังวลจากการที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.)จะเปิดประมูลใบอนุญาต 3G นั้น รมว.ไอซีที กล่าวว่า จะรอผลการเปิดรับฟังความคิดเห็นรอบ 2 ในวันที่ 12 พ.ย.นี้ และกทช.จะสรุปเสร็จภายในเดือน พ.ย.นี้ ก่อนที่กระทรวงจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะเท่าที่วิเคราะห์ความเสี่ยงจากการเปิดให้ใบอนุญาต 3G จะทำให้สองหน่วยงาน คือ ทีโอที และกสท สูญเสียรายได้ที่แต่ละปีจะนำส่งกระทรวงการคลัง 2.8-2.9 หมื่นล้านบาท นอกจากนั้น ยังจะมีปัญหาในแง่ด้านความมั่นคงที่ยังกังวลว่าหากเปิดให้บริษัทต่างชาติเข้ามาประมูลก็จะส่งผลกระทบได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ