นายฮิโรฮิสะ ฟูจิอิ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่นได้ส่งสัญญาณว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นควรจะดำเนินการเพื่อสกัดช่วงขาลงของดัชนีราคาผู้บริโภคที่อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ พร้อมกับย้ำว่า นโยบายการเงินมีบทบาทที่สำคัญต่อการรับมือกับภาวะเงินฝืด
จุดยืนของรมว.คลังญี่ปุ่นนั้นถือเป็นการตอกย้ำช่องว่างของความคิดเห็นระหว่างแบงค์ชาติและทีมงานของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในเรื่องผลกระทบที่มีต่อราคาที่ลดลงในระบบเศรษฐกิจของญี่ปุ่น
เมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นได้อยู่ในภาวะเงินฝืดเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี ในขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นระบุในวันเดียวกันว่า การขยายตัวกำลังฟื้นตัวขึ้น
บลูมเบิร์กรายงานว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากความกังวลของรัฐบาลเกี่ยวกับเรื่องเงินฝืดที่อาจทำให้ธนาคารกลางเพิ่มปริมาณการซื้อตราสารหนี้ และทำให้ผลประโยชน์ตอบแทนลดลง
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายมาซาอากิ ชิรากาว่า ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นกล่าวว่า การอัดฉีดสภาพคล่องแต่เพียงอย่างเดียวนั้นไม่สามารถทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นได้ ผู้บริหารระดับนโยบายควรจะหาทางกระตุ้นดีมานด์จากบริษัทเอกชนและผู้บริโภค สิ่งที่สำคัญก็คือ การรับประกันว่า ครัวเรือนจะไม่ต้องมากังวลเกี่ยวกับอนาคต และบริษัทต่างๆก็จะสามารถคาดการณ์ในเรื่องการขยายตัวของเศรษฐกิจได้ โดยธนาคารกลางจะยังคงรักษาสภาพแวดล้อมทางการเงินที่เอื้ออำนวยต่อทุกฝ่ายต่อไป
ทั้งนี้ รมว.คลังญี่ปุ่นกล่าวต่อไปว่า ไม่ต้องสงสัยเลยว่าภาวะเงินฝืดนั้นเกิดขึ้นเพราะดีมานด์ที่อ่อนตัว แต่การใช้งบประมาณการเงินแต่เพียงอย่างเดียวจะไม่สามารถแก้ปัญหาภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันได้