ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ 5 แห่งของจีนได้ยื่นแผนระดมทุนเบื้องต้นต่อเจ้าหน้าที่กำกับดูแลตลาดเงินของจีน หลังจากที่ธนาคารได้ขยายเพดานการออกเงินกู้งวดใหม่ในปีนี้
แหล่งข่าววงในเปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการกำกับดูแลด้านการธนาคารของจีน (CBRC) ได้ประเมินข้อมูลทางการเงินของ 5 ธนาคารพาณิชย์ ได้แก่ ธนาคารอินดัสเทรียล แอนด์ คอมเมอร์เชียล ออฟ ไชน่า, ธนาคารไชน่า คอนสตรัคชั่น แบงก์ คอร์ป, ธนาคารแบงก์ ออฟ ไชน่า, ธนาคารเพื่อการเกษตรแห่งจีน และธนาคารแบงก์ ออฟ คอมมิวนิเคชั่นส์ในสัปดาห์ที่แล้ว โดยธนาคารเหล่านี้ได้คาดการณ์ตัวเลขขาดทุนในปี 2553 เมื่อพิจารณาจากตัวเลขคาดการณ์เงินกู้และเป้าหมายสัดส่วนเงินทุนต่อปี แต่ธนาคารก็มีแผนอุดช่องโหว่ด้านตัวเลขขาดดุลงบประมาณไว้ด้วยเช่นกัน
บลูมเบิร์กรายงานว่า ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ธนาคารพาณิชย์จีน 5 แห่งมียอดการปล่อยเงินกู้รวมกันที่ 4.7 ล้านล้านหยวน (6.88 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) แม้ว่าสถาบันปล่อยเงินกู้ทั่วโลกจะควบคุมการออกสินเชื่อเพื่อปรับตัวเลขดุลบัญชีธนาคารให้ดีขึ้น โดยแบงก์ ออฟ ไชน่า เปิดเผยว่า ธนาคารกำลังศึกษาทางเลือกหลายๆด้านเพื่อปรับต้นทุนหลังจากที่ได้ออกเงินกู้ล็อตใหม่มากกว่าธนาคารรายอื่นๆ ขณะที่หุ้นของธนาคารปรับตัวลดลงในการซื้อขายที่ตลาดหุ้นฮ่องกง
ด้านนักวิเคราะห์จากยูโอบี-เคย์เฮียน อินเวสเมนท์ กล่าวว่า "จากอัตราการขยายตัวด้านการปล่อยสินเชื่อของจีนทำให้เงินทุนของธนาคารหดหายไปอย่างรวดเร็ว และส่งผลให้ธนาคารมีหนทางจำกัดในการแก้ปัญหาในกรณีที่มูลค่าของสินทรัพย์ปรับตัวลดลง"
ทั้งนี้ CBRC แนะว่า ธนาคารต้องมองการณ์ไกลในการกำหนดแผนระดมทุนระยะยาว และกำหนดสัดส่วนเงินทุนที่เหมาะสมโดยเลี่ยงการใช้แผนที่อาจเผชิญกับข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งรวมถึงการจำกัดการเข้าถึงตลาด การลงทุนในต่างประเทศ การเปิดสาขาใหม่ ตลอดจนการขยายธุรกิจ
ขณะเดียวกัน องค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) คาดการณ์ว่า ทางการจีนอาจควบคุมการขยายตัวของสินเชื่อเพื่อบรรเทาแรงกดดันด้านเงินเฟ้อและเพื่อป้องกันภาวะฟองสบู่ในสินทรัพย์ ขณะที่บีเอ็นพี พาริบาส์คาดว่า ธนาคารพาณิชย์ของจีนอาจมียอดการปล่อยสินเชื่อสูงถึง 7 ล้านล้านหยวนในปี 2553