ทริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กร-หุ้นกู้"น้ำตาลมิตรผล"ที่ A/Stable

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 25, 2009 12:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้มีประกันของ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ที่ระดับ “A" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตสะท้อนถึงชื่อเสียงของบริษัทซึ่งเป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลไทย การเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่อันดับ 2 ในประเทศจีน ตราสัญลักษณ์ที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี ประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาล ตลอดจนการขยายกิจการไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจน้ำตาล นอกจากนี้ การให้อันดับเครดิตยังพิจารณาถึงความเสี่ยงเกี่ยวกับกฎระเบียบและการดำเนินธุรกิจอ้อยและน้ำตาลในต่างประเทศ รวมถึงความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำตาลและปริมาณผลผลิตอ้อย

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่ากลุ่มน้ำตาลมิตรผลจะยังคงดำรงสถานะผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลทั้งในประเทศไทยและจีนต่อไป ด้วยสถานะที่แข็งแกร่งในธุรกิจน้ำตาลและกระแสเงินสดที่สม่ำเสมอจากธุรกิจพลังงานน่าจะช่วยให้บริษัทสามารถเผชิญกับความผันผวนของราคาน้ำตาลในตลาดโลกได้

บริษัท น้ำตาลมิตรผล เป็นผู้นำในธุรกิจอ้อยและน้ำตาลของประเทศไทย ซึ่งก่อตั้งในปี 2489 โดยตระกูลว่องกุศลกิจ ปัจจุบันตระกูลว่องกุศลกิจถือหุ้นในบริษัทเต็ม 100% ผ่านบริษัท น้ำตาลมิตรสยาม จำกัด

โรงงานน้ำตาลของเครือมิตรผลในประเทศไทยมี 5 แห่ง โดยมีกำลังการหีบอ้อยรวม 130,500 ตันอ้อยต่อวัน ในปีการผลิต 2551/2552 บริษัทผลิตน้ำตาลได้ 1.3 ล้านตัน ลดลง 11.33% จากปีที่ผ่านมา ในขณะที่ปริมาณการผลิตน้ำตาลของทั้งประเทศลดลง 8.06% อย่างไรก็ตาม กลุ่มมิตรผลยังคงสามารถจัดหาอ้อยในปริมาณสูงสุดคิดเป็นสัดส่วน 17.95% ของปริมาณอ้อยทั้งประเทศ รองลงมาคือกลุ่มไทยรุ่งเรือง 17.65% กลุ่มไทยเอกลักษณ์ 14.45% และกลุ่มน้ำตาลขอนแก่น 6.74%

น้ำตาลมิตรผลยังขยายการดำเนินธุรกิจไปยังประเทศจีนด้วย โดยปัจจุบันบริษัทเป็นเจ้าของและบริหารโรงงานน้ำตาล 7 แห่งในประเทศจีนซึ่งผลิตน้ำตาลได้ 1.11 ล้านตันในปีการผลิต 2551/2552 คิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาด 8.85% ส่งผลให้บริษัทเป็นผู้ผลิตน้ำตาลรายใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศจีน ด้วยประสิทธิภาพในการผลิตน้ำตาลของโรงงานที่ระดับ 128.93 กิโลกรัม (กก.) ต่อตันอ้อย นับว่าอยู่ในระดับที่ดีกว่าค่าเฉลี่ยของโรงงานกลุ่มมิตรผลในประเทศไทยซึ่งอยู่ที่ 109.24 กก.

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 รายได้รวมของบริษัทอยู่ที่ระดับ 35,989 ล้านบาท โดยรายได้จากธุรกิจน้ำตาลในประเทศจีนคิดเป็นสัดส่วน 42.56% ของรายได้รวม บริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายรวมอยู่ที่ระดับ 5,871 ล้านบาท ซึ่งมาจากธุรกิจน้ำตาลในประเทศจีนถึง 45.91% สถานการณ์อุปทานอ้อยส่วนเกินในประเทศจีนในปี 2551 ส่งผลให้ราคาน้ำตาลลดลงอย่างมากสู่ระดับ 2,746 หยวนต่อตันในเดือนตุลาคม 2551 แต่หลังจากที่อุปทานอ้อยทั้งในประเทศจีนและประเทศอื่นๆ ปรับตัวลดลงในปีการผลิต 2551/2552 ราคาน้ำตาลก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับเฉลี่ยที่ 3,586 หยวนต่อตัน อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรขั้นต้นจากธุรกิจน้ำตาลในประเทศจีนของบริษัทลดลงจากระดับสูงสุดที่ 38.5% ในปี 2549 เป็น 22.8% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552

โรงงานน้ำตาลของบริษัทในประเทศลาวเริ่มดำเนินการผลิตในเดือนธันวาคม 2551 โดยผลิตน้ำตาลทรายดิบได้ 22,940 ตันในปีการผลิต 2551/2552 และในเดือนพฤษภาคม 2552 บริษัทสามารถส่งน้ำตาลทรายดิบชุดแรกที่ผลิตได้ในประเทศลาวไปยังกลุ่มประเทศยุโรปที่ราคาเฉลี่ย 448.80 ยูโรต่อตัน

บริษัทยังขยายการลงทุนไปยังธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำตาลทั้งในประเทศไทยและจีนเพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากอ้อย ได้แก่ ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจผลิตเอทานอล ธุรกิจผลิตแผ่นไม้อัด และธุรกิจผลิตกระดาษ ปัจจุบันโรงงานเอทานอลของบริษัทในประเทศไทยมีกำลังการผลิตที่ 600,000 ลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 50% จากปีที่ผ่านมาหลังจากที่โรงงานเอทานอลที่อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อเดือนธันวาคม 2552 กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายของธุรกิจเอทานอลเพิ่มขึ้นจาก 642 ล้านบาทในปี 2550 เป็น 1,662 ล้านบาทในปี 2551 และเป็น 1,547 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 อันเป็นผลมาจากการเพิ่มกำลังการผลิตและราคาเอทานอลในตลาดที่สูงขึ้น

ทริสเรทติ้ง กล่าวถึงผลประกอบการด้านการเงินของบริษัทน้ำตาลมิตรผลว่ายังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 บริษัทมียอดขายรวม 35,989 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.88% จากช่วงเดียวกันของปี 2551 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากราคาขายที่เพิ่มขึ้นของน้ำตาลและเอทานอล อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 16.11% ในปี 2551 เป็น 16.75% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2552 เนื่องจากการฟื้นตัวของราคาน้ำตาลในประเทศจีนเป็นหลัก ในช่วงปี 2553-2554 บริษัทมีงบลงทุนสำหรับโครงการใหม่ประมาณ 5,000 ล้านบาทเพื่อใช้ในการขยายโรงงานผลิตน้ำตาลทรายขาวบริสุทธ์ในประเทศจีนและโรงไฟฟ้าใหม่ในประเทศไทยและจีน โดยบริษัทเตรียมจัดหาเงินทุนเพื่อการดังกล่าวทั้งจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานและจากวงเงินกู้ใหม่ อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทคาดว่าจะยังคงใกล้เคียงกับระดับปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 54.45% เมื่อเดือนกรกฎาคม 2552

ปริมาณผลผลิตอ้อยของโลกค่อนข้างผันผวนเป็นอย่างมากมาโดยตลอดซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศและราคาอ้อยเมื่อเทียบกับพืชผลทางการเกษตรประเภทอื่นๆ ปัจจุบันปริมาณผลผลิตน้ำตาลของโลกปรับตัวลดลงเนื่องจากการลดลงของผลผลิตจากประเทศอินเดียและประเทศอื่นๆ ส่งผลให้ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 12.99 เซนต์/ปอนด์ในเดือนธันวาคม 2551 เป็น 22.96 เซนต์/ปอนด์ในเดือนพฤศจิกายน 2552 ทั้งนี้ คาดว่าราคาน้ำตาลจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงเช่นนี้ต่อไปในปีการผลิต 2552/2553


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ