"อานันท์"คาดกำหนดประเภทโครงการที่มีผลกระทบรุนแรงภายใต้ม. 67 ใน 2 เดือน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 13, 2010 18:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการปฎิบัติตามมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(คณะกรรมการ 4 ฝ่าย) กล่าวว่า ขณะนี้ถือว่ามีกลไกที่จะดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง ครบถ้วนแล้ว

"นับตั้งแต่วันนี้ การปฎิบัติตามมาตรา 67 ถือว่ามีความครบถ้วนแล้ว แต่เพื่อให้การดำเนินงานนำไปสู่การปฎิบัติอย่างแท้จริง จึงได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อการปรับปรุงรายการโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ เพื่อจัดทำรายการประเภทโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง คาดว่า จะสามารถประกาศรายชื่อโครงการได้ภายใน 2 เดือน" นายอานันท์ กล่าว

นอกจากนี้ ยังจะมีการจัดตั้งคณะคณะอนุกรรมการศึกษาและเติมเต็มทางเทคนิค เพื่อขจัดมลพิษในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อศึกษาประเมินสถานการณ์มลพิษ และจัดทำข้อเสนอในการแก้ไขปัญหามลพิษในพื้นที่มาบตาพุด ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว คาดว่า จะใช้เวลาดำเนินงาน เพื่อจัดทำข้อเสนอให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือนเช่นกัน เพื่อเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา

ส่วนผลการดำเนินงานของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายที่ผ่านมาจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นได้มากน้อยแค่ไหนนั้น นายอานันท์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับความเชื่อถือของภาคเอกชน ประชาชน และรัฐบาลว่าจะนำข้อเสนอแนะไปปฎิบัติอย่างจริงจัง และมีความจริงใจในการแก้ปัญหาแค่ไหน

สำหรับการประชุมในวันนี้ คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาปรับปรุงแก้ไขประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฎิบัติและแนวทางในการจัดทำรายงาน การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ซึ่งได้เสนอนายกรัฐมนตรีแล้วเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.52 และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.52

นอกจากนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยังได้ปรับปรุงเอกสารแนวทางการประเมินผลกระทบทางสุขภาพในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสุขภาพ(เอชไอเอ) รวมทั้งจัดทำแนวทางการจัดตั้งองค์การอิสระ เป็น 2 ระยะ คือการจัดตั้งองค์การอิสระเฉพาะกาลโดยใช้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีคาดว่าจะใช้เวลาในการดำเนินงานเพื่อนำไปสู่การเกิดขึ้นขององค์การอิสระภายใน 60 วัน หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานการให้ความเห็นขององค์การอิสระ และจัดตั้งองค์การอิสระถาวรตาม พ.ร.บ.ซึ่งจะใช้เวลานานถึง 8-12 เดือน เนื่องจากต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาให้แล้วเสร็จ และส่งให้รัฐสภาพิจารณาทันการประชุมรัฐสภาสมัยสามัญทั่วไปในระหว่างวันที่ 21 ม.ค.-เม.ย.53


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ