(เพิ่มเติม) "กอร์ปศักดิ์"เชื่อปัญหามาบตาพุดไม่ถึงทางตัน ขอเวลาหารือเอกชน 1-2 วัน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 25, 2010 15:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ตามที่ศาลปกครองกลางยกคำร้องขอปลดล็อคโครงการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดของภาคอุตสาหกรรมทั้ง 30 โครงการนั้นเชื่อว่าน่าจะมีทางออกในเรื่องนี้ โดยจะขอเวลาหารือและทำความเข้าใจกับภาคเอกชนที่เป็นเจ้าของ 30 โครงการก่อนในช่วง 1-2 วันนี้ และคาดว่ากระทรวงอุตสาหกรรมจะนำรายงานข้อสรุปดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาวันพรุ่งนี้(26 ม.ค.)

เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังไม่ถึงทางตันที่จะแก้ปัญหานี้ อีกทั้งเห็นว่าและศาลปกครองไม่ได้ปิดกั้นโอกาสการเข้าไปลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เพราะตามคำพิพากษาของศาลระบุว่าหากโครงการหรือกิจกรรมใดได้ดำเนินการตามกฎหรือระเบียบที่ผู้มีอำนาจหน้าที่กำหนดตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญปี 50 ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 8 รายหรือผู้มีส่วนได้เสียอาจมีคำขอต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้พิจารณามีคำสั่งแก้ไขหรือยกเลิกคำสั่งนั้นได้

วันนี้ นายกอร์ปศักดิ์ ได้ติดตามผลการดำเนินงานของศูนย์ประสานการบริการด้านการลงทุน(ศูนย์ OSOS) ซึ่งศูนย์ OSOS ได้มีการตั้งคณะทำงานเพื่อดูแลปัญหาการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดขั้นโดยเฉพาะ มีนายสรยุทธ์ เพ็ชรตระกูล มีผู้ช่วย รมว.อุตสาหกรรมเป็นประธาน

ทั้งนี้ศูนย์ OSOS จะดูแลปัญหาการถูกระงับโครงการลงทุนและหาทางออกที่เป็นเชิงบวก พร้อมดูแลให้ผู้ประกอบการทั้ง 65 โครงการ ดำเนินการตามกรอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรค 2 ทั้งการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) และด้านสุขภาพ(HIA) รวมถึงการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และการดูแลผู้ประกอบการใหม่ที่จะเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงการหารือร่วมกับนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ถึงกรณีที่ศาลปกครองกลางยกคำร้องขอให้มีการทบทวนคำสั่งระงับโครงการลงทุนของภาคอุตสาหกรรม 30 โครงการในมาบตาพุดว่า ได้หารือกันถึงรายละเอียดของแต่ละโครงการที่ภาคเอกชนขออุทธรณ์แต่ถูกยกคำร้อง ว่าแต่ละโครงการเป็นอย่างไร เพื่อดูว่าจะมีช่องทางใดที่จะดำเนินการได้อย่างไรได้บ้าง โดยยังไม่ได้หารือถึงแนวทางที่รัฐจะออกมาช่วยเหลือโดยตรง

ขณะนี้ยอมรับว่าหลายคนยังมึนงงกับกรณีนี้ ซึ่งในภาคเอกชนจะหารือกันอีกครั้งในวันที่ 26 ม.ค.ว่าจะเดินหน้าเรื่องนี้ต่อไปอย่างไรอย่างรอบคอบ และในการประชุมคณะกรรมการ 4 ฝ่ายเพื่อแก้ไขปัญหามาบตาพุดคงไม่มีการหารือกันถึงเรื่องนี้เพราะไม่ได้อยู่ในขอบข่ายหน้าที่ของคณะกรรมการฯ แต่จะหารือกับถึงความคืบหน้าในการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน รวมถึงแผนแก้ไขมลพิษที่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ