วิจัยกสิกรฯ คาดประชุมกนง.10 มี.ค.จะมีมติคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.25%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 5, 2010 15:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) วันที่ 10 มี.ค.นี้ จะมีมติให้ตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.25% เพราะความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อของไทยยังไม่เร่งตัวมากนัก โดยเฉพาะจากฝั่งอุปสงค์หรืออัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน(Core CPI) ที่น่าจะเอื้อให้ กนง.ยังมีความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายผ่านอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำได้ต่อไป อย่างน้อยก็ในช่วงครึ่งแรกของปี 53

โดยเชื่อว่า กนง.เลือกที่จะรอให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีเสถียรภาพมากกว่านี้ จึงค่อยพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเมื่อถึงจังหวะที่เหมาะสมในอนาคต ซึ่งมีโอกาสจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง

"แม้ว่าเครื่องชี้ส่วนใหญ่จะแสดงถึงการปรับตัวไปในทิศทางที่เป็นบวกมากขึ้น แต่การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจยังมีปัจจัยอีกหลายประการที่รอท้าทายอยู่ข้างหน้า ประกอบกับแรงกดดันเงินเฟ้อโดยเฉพาะที่วัดจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ยังมีแนวโน้มขยับขึ้นด้วยกรอบที่ค่อนข้างจำกัดต่อไปอีกระยะหนึ่ง ดังนั้นจึงคาดว่า กนง.น่าจะมีมติให้ตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม" เอกสารเผยแพร่ ระบุ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้นโยบายอัตราดอกเบี้ยจากทางการจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงในระยะอันใกล้นี้ แต่ภายใต้การคาดการณ์แนวโน้มขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในระยะถัดไป รวมถึงการแข่งขันกับช่องทางการลงทุนอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกระทรวงการคลังมีแผนจะออกพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง วงเงินไม่เกิน 1 แสนล้านบาท ในช่วงปลายมี.ค.-ต้นเม.ย.นี้ สถาบันการเงินต่างๆ อาจยังคงมีการสะสมสภาพคล่องด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินออมพิเศษที่ให้ผลตอบแทนจูงใจอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจเอกชนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการปรับขึ้นของราคาสินค้าทั่วไป ตลอดจนเพื่อรักษาฐานลูกค้าและส่วนแบ่งการตลาด

ทั้งนี้ แนวทางการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงินภายใต้ภาวะการแข่งขันที่เข้มข้นระหว่างสถาบันการเงินด้วยกันเองและกับช่องทางการลงทุนอื่นๆ ดังกล่าว น่าจะช่วยให้ผู้ออมมีทางเลือกการลงทุนที่หลากหลายและตรงกับความต้องการมากขึ้น

ขณะที่ ภาพการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่น่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นตามลำดับเมื่อย่างเข้าสู่ช่วงครึ่งปีหลัง(บนพื้นฐานปัจจัยการเมืองไม่มีเหตุรุนแรง) คงจะส่งผลตามมาให้ตลาดเพิ่มโอกาสที่ กนง.จะส่งสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากระดับต่ำในปัจจุบันสู่ระดับที่เป็นกลางมากขึ้น(Neutralized) แนวโน้มดังกล่าวจะมีผลต่อทิศทางอัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้และต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจเอกชนให้มีโอกาสขยับสูงขึ้นในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ