รมว.อุตฯ ยืนยันเป้า BOI ปีนี้ที่ 5 แสนลบ.เท่าเดิมแม้เผชิญวิกฤตการเมือง

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 25, 2010 10:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ยังคงเป้าหมายยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 53 ไว้ที่ 5 แสนล้านบาทเท่าเดิมแม้จะมีวิกฤตทางการเมือง เนื่องจากเป็นคนละส่วนกับภาคธุรกิจ แต่ต้องไม่มีการปิดเส้นทางคมนาคมขนส่ง ทั้งสนามบิน ท่าเรือ และโลจิสติกส์

ส่วนกรณีเงินบาทแข็งค่านั้น รัฐบาลประเมินว่าเป็นการแข็งค่าในระดับปานกลาง ไม่น่าวิตก โดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมมาตรการช่วยเหลือไว้แล้ว ทั้งมาตรการลดต้นทุนทางด้านภาษี และต้นทุนการผลิต อีกทั้งยังขอความร่วมมือจากสมาคมธนาคารไทยให้ช่วยปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยอัตราพิเศษแก่ผู้ประกอนการอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันกระทรวงอุตสาหกรรมและบีโอไอ ยังสนับสนุนให้นักธุรกิจไทยขยายการลงทุนออกไปยังต่างประเทศ

รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า สถานการณ์ทางการเมืองยังไม่สุกงอม แต่สิ่งที่อยากขอร้องกลุ่มผู้ชุมนุมคืออย่าทำให้เศรษฐกิจไทยเสียหาย ในส่วนของพรรคเพื่อแผ่นดินเป็นมิตรกับทุกพรรค แต่ต้องการให้การชุมนุมยุติโดยเร็ว เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าอย่างราบรื่น

ด้านนางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) กล่าวว่า การชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้น แม้จะส่งผลกระทบต่อความรู้สึกนักลงทุนบ้าง แต่ช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ยังมีนักลงทุนยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอประมาณ 7-8 หมื่นล้านบาท ซึ่งบีโอไอได้ขยายมาตรการส่งเสริมการลงทุนและมาตรการใหม่ๆ โดยเพิ่มประเภทกิจการที่จะให้การส่งเสริมการลงทุน และยังเชื่อมั่นว่าภาพรวมทั้งปีนี้จะนักลงทุนยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนเป็นไปตามเป้าหมาย

ส่วนการออกไปลงทุนในต่างประเทศของนักธุรกิจไทยนั้น ตั้งแต่ปี 2523 ถึงปัจจุบัน มียอดรวมประมาณ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นตัวเลขยังไม่สูงมากนัก และกระจุกตัวเฉพาะรายใหญ่ ได้แก่ บมจ.ปตท(PTT), บมจ.เครือซิเมนต์ไทย(SCC), บมจ.บ้านปู(BANPU), บมจ.เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี(CPF), บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด และพีซีซี โดยประเทศที่นักธุรกิจไทยออกไปลงทุนมากขึ้น ได้แก่ จีน อินเดีย แอฟริกา และอินโดนีเซีย เป็นต้น ซึ่งเชื่อมั่นว่าไทยยังมีศักยภาพออกไปลงทุนมากกว่านี้ในสาขาที่ไทยแข็งแกร่ง

สำหรับโครงการลงทุนผลิตรถยนต์ขนาดเล็กมาตรฐานสากล(อีโคคาร์)นั้น ผู้ผลิตทั้ง 6 ค่ายที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอยังคงเดินหน้าโครงการตามแผน และยังไม่มีรายใดประกาศถอนการลงทุน ซึ่งล่าสุดค่ายรถยนต์นิสสันเปิดตัวไปแล้วเมื่อ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา ส่วนอีก 5 รายจะมีรถยนต์ออกสู่ตลาดในช่วงต่อไป

นางอรรชกา กล่าวว่า สำหรับมูลค่าการลงทุนในต่างประเทศสะสมของนักลงทุนไทยระหว่างปี 2523-2551 พบว่า มีมูลค่า 10,857 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 4% ของจีดีพี โดยการลงทุนของไทยในสหภาพพม่ามีมูลค่าสูงสุด 7,391.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รองลงมาคือ จีน 3,186.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ, ลาว 1,581.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ,เวียดนาม 1,667 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอินเดีย 831 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ด้านมาตรการส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศในปัจจุบัน บีโอไอได้ให้บริการข้อมูล และให้คำปรึกษาแนะนำนักธุรกิจไทยที่สนใจจะไปลงทุนในต่างประเทศ และจัดตั้งหน่วยงานย่อย(Country Desk) ดูแลรับผิดชอบโดยตรง นอกจากนี้ยังมีการจัดสัมมนาการสร้างเครือข่ายภาครัฐและเอกชนแนะนำคู่ค้าและผู้ร่วมลงทุน โดยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา(2550—2552) บีโอไอได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศด้วยการพาคณะนักธุรกิจไทยไปดูลู่ทางการลงทุนในประเทศกัมพูชา พม่า เวียดนาม ลาว จีน ไต้หวัน และอินเดีย รวมจำนวนกว่า 50 ครั้ง

สำหรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศของหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ประกอบด้วย มาตรการของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย คือให้บริการข้อมูล การให้สินเชื่อระยะยาว การให้สินเชื่อธุรกิจก่อสร้าง และการรับประกันความเสี่ยง มาตรการของกระทรวงการคลัง คือ การเว้นการเก็บภาษีซ้อน กองทุนความช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน

ส่วนมาตรการของกระทรวงต่างประเทศคือ การคุ้มครองการลงทุน การอำนวยความสะดวกและให้คำแนะนำ การช่วยเหลือด้านวิชาการ และมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยคือ ระเบียบควบคุมการแลกเปลี่ยน มาตรการการเคลื่อนย้ายเงินตราต่างประเทศ

ปัจจุบัน นโยบายส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศถือเป็นยุทธศาสตร์ของบีโอไอ และได้จัดตั้งหน่วยงานย่อยรับผิดชอบดูแลการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศโดยตรง นอกจากนี้ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศขึ้นมาทำหน้าที่ศึกษาและกำหนดยุทธศาสตร์ พร้อมกับการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งองค์กรถาวรและรับผิดชอบงานส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ