(เพิ่มเติม) ครม.ตีกลับมาตรการเยียวยาธุรกิจ-ลูกจ้างจากการชุมนุม ตั้งกก.ชุดใหญ่ทบทวน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 4, 2010 17:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)มอบหมายให้นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรีไปพิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่เพื่อเยียวยาผู้ประกอบการและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ชุมนุมปิดแยกราชประสงค์ หลังจากที่ข้อเสนอมาตรการเยียวยาชุดของนายเกียรติ สิทธีอมร ประธานผู้แทนการค้าไทย และนางอัญชลี เทพบุตร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี รวมทั้งมาตรการจากกระทรวงแรงงาน ยังไม่สามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาของนายกรัฐมนตรีได้ตรงจุด

สำหรับคณะกรรมการชุดใหญ่ที่นายกอร์ปศักดิ์ตั้งขึ้นจะมีอำนาจการตัดสินใจเรื่องการให้ความช่วยเหลือดังกล่าวโดยที่ไม่จำเป็นขอมติจาก ครม.อีก

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี เห็นว่าการเสนอมาตรการช่วยเหลือให้กับผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนให้กับลูกจ้างที่มีเงินเดือนต่ำกว่า 15,000 บาท ในวงเงินไม่เกินคนละ 3,000 บาท จำนวน 20,000 คน ตามที่คณะทำงานเสนอมานั้นเห็นว่ายังไม่สามารถตอบโจทย์ของการให้ความช่วยเหลือที่เดือดร้อนได้ เพราะเท่ากับว่าเป็นการช่วยเหลือให้กับผู้ที่ยังมีงานทำอยู่ แต่คนที่ตกงานจริงๆ โดยเฉพาะคนที่อยู่นอกระบบยังไม่ได้รับความช่วยเหลือที่ชัดเจน ซึ่งไม่สามารถตอบคำถามต่อสังคมได้ นายกฯ จึงต้องการให้มีการวางกรอบเรื่องนี้ให้ชัดเจน แล้วนำกลับมาเสนออีกครั้ง

"นายกฯ บอกว่าไม่ตอบโจทย์ ต้องแก้ที่เร่งด่วนก่อน คือ คนตกงานทั้งในและนอกระบบให้ครบ รวมถึงธุรกิจที่ปิดกิจการ รวมทั้งดูเรื่องค่าเช่า"นายวัชระ กล่าว

ขณะที่ รมว.คลัง เสนอให้มีมาตรการจูงใจผู้ประกอบการ เช่น รายใดคิดว่าต้องปลดลูกจ้าง ก็จะหามาตรการจูงใจเพื่อชะลอการตัดสินใจปลดคนงานออกไป

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรียังไม่เห็นด้วยกับการเสนอขอจัดงานพาณิชย์เอ็กซ์โปในช่วงกลางเดือนนี้ ที่จะเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีสินค้าค้างสต๊อกหรือขายไม่ออกมาขายในงานนี้ เพราะเห็นว่าจะเป็นมาตรการที่ซ้ำซ้อนกับมาตรการที่รัฐบาลกำลังช่วยเหลืออยู่แล้ว เพราะการหามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการส่วนหนึ่งจะพิจารณาจากสินค้าคงคลังหรือสินค้าที่ยังค้างสต๊อกอยู่ ดังนั้น หากมีมาตรการของกระทรวงพาณิชย์เข้ามาด้วยอาจทำให้เกิดความซ้ำซ้อน

นายวัชระ กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบ 5 มาตรการเพิ่มเติมให้กับผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อนจากการชุมนุมโดยให้ขยายหรือเลื่อนเวลากำหนดเวลาการนำส่งเงินสมทบประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนไปจนถึงเดือนส.ค. 53 นี้ รวมทั้งยกเว้นอัตราดอกเบี้ยสำหรับค่าสาธารณูปโภค ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ที่ผู้ประกอบการอยู่ระหว่างการขอผ่อนผันกรณีที่มีการค้างชำระ โดยให้ชำระภายใน 2 เดือนหลังจากเสร็จสิ้นการชุมนุม

พร้อมกันนี้ยังได้มอบหมายให้นางอัญชลี เทพบุตร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ไปประสานงานกับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อหาแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการเรื่องภาษีโรงเรือนและภาษีป้ายเพื่อช่วยเหลือเอกชนต่อไป รวมทั้งมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ไปดูแลกรมธรรม์ที่ผู้ประกอบการได้ทำไว้และเจรจากับบริษัทที่รับประกัน และเห็นชอบข้อเสนอของผู้ประกอบการที่ให้ใช้กลไกของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) เข้ามาดำเนินการเพื่อผ่อนปรนเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อให้แก่ SMEs


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ