ดัชนี FCI เม.ย.ชะลอการขยายตัวจากการเมืองปั่นป่วน บ่งชี้ GDP วูบตาม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 18, 2010 14:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ดัชนีต้นทุนทางการเงินภาคธุรกิจ (Financial Condition Index: FCI) ในเดือนเม.ย. อยู่ที่ระดับ 126.4 ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 125.9 ในเดือนมีนาคม 2553

ล่าสุด ดัชนีดังกล่าวยังคงมีระดับที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในมิติของอัตราการเปลี่ยนแปลงจากปีก่อน (YoY) จะพบว่า อัตราการเพิ่มขึ้นของดัชนี FCI ชะลอลงจาก 6.7% ในเดือนมีนาคม มาที่ 4.9% อันเป็นอัตราเพิ่มที่ต่ำสุดในรอบ 11 เดือน ขณะที่ อัตราการเปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนหน้า (MoM) ที่ปรับฤดูกาลแล้ว หดตัว 0.4% ในเดือนเมษายน หลังจากที่อยู่ในแดนบวกในช่วงสองเดือนก่อนหน้า

"ดัชนี FCI ที่เติบโตชะลอลงตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 ต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกของปี 2553 ที่ผ่านมา บ่งชี้ถึงโอกาสที่จีดีพีมีโอกาสเติบโตชะลอลงจนถึงไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 นี้ ซึ่งก็ถือว่ามีความเป็นไปได้ หากปัญหาการเมืองยังไม่มีทางออกด้วยสันติวิธีในอนาคตอันใกล้นี้" ศูนย์วิจัยกิกรไทยระบุ

ในเดือนเมษายน 2553 ดัชนี FCI ปรับตัวสูงขึ้นโดยได้รับแรงหนุนจากการปรับตัวลดลงแรงของอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ ซึ่งนำโดยการปรับตัวลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลถึง 37.2 จุดจากสิ้นเดือนก่อนหน้า หลังจากที่นักลงทุนได้โยกย้ายเงินลงทุนมาสู่ตลาดตราสารหนี้มากขึ้น ท่ามกลางความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การเมืองในประเทศ ตลอดจนความต้องการลงทุนจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน สเปรดของหุ้นกู้เอกชน (เรตติ้ง AAA ประเภท 5ปี) ก็ปรับตัวลดลงอีก 1.3 จุด ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยับลง 5.6 จุด ซึ่งสะท้อนความต้องการลงทุนของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้นในภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง และทางเลือกในการออมที่ค่อนข้างจำกัด

อย่างไรก็ตาม แรงส่งดังกล่าวบางส่วน ถูกหักล้างจากการร่วงลงของดัชนีตลาดหุ้นที่ปรับตัวลดลงจากระดับ 787.98 ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2553 มาแตะ 726.9 จุดในวันที่ 19 เมษายน อันเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 1 เดือน ก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อยมาที่ 763.51 ในช่วงสิ้นเดือน ซึ่งก็ยังเป็นระดับต่ำกว่าสิ้นเดือนก่อนหน้า

ทั้งนี้ นอกจากอิทธิพลจากปัญหาความรุนแรงทางการเมืองในประเทศแล้ว ตลาดหุ้นไทยก็ยังได้รับผลกระทบจากความผันผวนของตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของเดือนเมษายน ตามความวิตกเกี่ยวกับปัญหาวิกฤตการคลังกรีซที่เพิ่มขึ้น จนมีผลให้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยจำนวน 4.1 พันล้านบาทในเดือนเมษายน หลังจากที่ซื้อสุทธิติดต่อกันในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม 2553

ปัจจัยต่างๆ ดังกล่าว จึงทำให้อัตราการเปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนหน้าและระยะเดียวกันของปีก่อนหน้าของดัชนี FCI ในภาพรวม แผ่วลง นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนทางการเมืองและโอกาสที่เศรษฐกิจอาจชะลอลงดังกล่าว ยังน่าจะส่งผลกระทบทางลบต่อภาวะการระดมทุนจากตลาดหุ้นและสินเชื่อธนาคารพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ