บอร์ดกองทุน FTA อนุมัติงบฯ 128 ลบ.หนุนโครงการเพิ่มศักยภาพข้าว-ชาวนา

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 4, 2010 16:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ(กองทุน FTA)อนุมัติงบประมาณจำนวน 128.9 ล้านบาทสำหรับดำเนิน“โครงการเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวและสร้างความเข้มแข็งให้ชาวนาเพื่อรองรับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าอาเซียน (AFTA)" ในช่วงระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่เดือนเม.ย.53-เม.ย.55 เพื่อยกระดับผลผลิต รักษาคุณภาพข้าวเปลือก พัฒนาชาวนา ลดต้นทุนการผลิตต่อตัน และสร้างผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า รองรับการเปิดการค้าเสรีอาเซียนที่จะส่งผลต่อการแข่งขันในตลาดการค้าข้าวกับประเทศในกลุ่มอาเซียน

โครงการดังกล่าวจะทำการคัดเลือกศูนย์ข้าวชุมชนที่มีความเข้มแข็งนำมาจัดตั้งเป็นศูนย์ข้าวชุมชนหลักปีละ 5 ศูนย์ ใน 5 จังหวัด ที่มีศักยภาพผลิตข้าวคุณภาพ คือ สุรินทร์ อุดรธานี อำนาจเจริญ นครสวรรค์ และอ่างทอง เพื่อทำหน้าที่เป็นแม่ข่ายในการดูแลศูนย์ข้าวชุมชนเครือข่ายอีกจังหวัดละ 10 ศูนย์ เป็นจังหวัดละ 11 ศูนย์ รวมทั้งสิ้น 55 ศูนย์ โดยได้วางเป้าหมายให้แต่ละศูนย์เป็นแหล่งผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดีได้ปีละ 50 ตัน/ศูนย์

นอกจากนั้น ยังวางบทบาทให้ศูนย์ฯ หลักและเครือข่าย เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้การผลิตข้าวชุมชน เพื่อพัฒนาศักยภาพของชาวนาและองค์กรชาวนาให้เกิดความเข้มแข็ง ผ่านการนำองค์ความรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาบูรณาการกับภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างชาวนาชั้นนำ ชาวนามืออาชีพ และชาวนารุ่นใหม่ควบคู่กันไป ซึ่งจะช่วยให้ชาวนาในเครือข่ายศูนย์ข้าวชุมชนสามารถเพิ่มผลผลิตข้าวได้จากเดิม ร้อยละ 10 รวมถึงยังจะให้ศูนย์ข้าวชุมชนทำหน้าที่เป็นศูนย์เตือนภัยธรรมชาติและศัตรูข้าว โดยอบรมชาวนาให้มีความรู้ในการสำรวจ เฝ้าระวัง เตือนภัย รายงานและติดตามสถานการณ์ระบาดศัตรูข้าวและภัยธรรมชาติอย่างทันต่อเหตุการณ์อีกด้วย

โครงการดังกล่าว ยังจะมีการจัดทำหมู่บ้านต้นแบบการลดต้นทุนการปลูกข้าว ในหมู่บ้านที่เป็นศูนย์หลักของศูนย์ข้าวชุมชน หรือศูนย์ฯ เครือข่าย เพื่อทำกิจกรรมต่างๆ ในการลดต้นทุนการผลิตข้าว อาทิ การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเฉพาะพื้นที่ การทำแปลงสาธิต การลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมี ฯลฯ จำนวน 6 หมู่บ้าน ในพื้นที่นำร่อง 6 จังหวัด คือ สุรินทร์ อุดรธานี อำนาจเจริญ นครสวรรค์ อ่างทอง และนครศรีธรรมราช

นายธีระ คาดว่า เกษตรกรในหมู่บ้านต้นแบบจะมีความรู้และสามารถ ลดต้นทุนการผลิตข้าวได้อย่างน้อยตันละ 1,000 บาท ซึ่งนับว่าคุ้มค่าในสถานการณ์ปัจจุบันที่ต้นทุนการผลิตข้าวขาวอยู่ที่ประมาณตันละ 7,000 บาท ต้นทุนการผลิตที่ลดลงนี้จะสามารถแข่งขันด้านราคากับข้าวที่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งผลผลิตข้าวที่มีคุณภาพและผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องของข้าว ยังจะเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้บริโภค และขยายตลาดสินค้าข้าวของชุมชนอีกด้วย"นายธีระ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ