ADB หนุนประเทศเอเชียเดินหน้าใช้สกุลเงินเดี่ยว แม้ยุโรปเผชิญปัญหาเงินยูโรตกต่ำ

ข่าวต่างประเทศ Tuesday June 8, 2010 14:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) เปิดเผยว่า ประเทศเอเชียจำเป็นต้องรวมตัวการในด้านเศรษฐกิจให้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการค้าและการลงทุน เพื่อปูทางไปสู่การใช้สกุลเงินเดี่ยวของเอเชีย

นายมาซาฮิโระ คาวาอิ ผู้อำนวยการเอดีบีกล่าวว่า ภูมิภาคเอเชียมีโอกาสที่จะก้าวขึ้นเป็นเสาหลักเศรษฐกิจของโลกภายในปี 2593 และเอเชียจำเป็นต้องใช้สกุลเงินร่วมกันเพื่อลดต้นทุนการทำธุรกรรมการซื้อขายและปกป้องนโยบายท้องถิ่นให้รอดพ้นจากอิทธิพลภายนอก โดยนายคาวาอิย้ำว่า เอเชียจำเป็นต้องเดินหน้าผลักดันแผนการใช้เงินสกุลเดี่ยว แม้ยุโรปกำลังเผชิญกับปัญหาค่าเงินยูโรตกต่ำก็ตาม

"วิกฤตการณ์การเงินในยุโรปทำให้เอเชียมีบทเรียนมากมาย แต่บทเรียนเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องขัดขวางเอเชียให้ละความคิดในการใช้สกุลเงินร่วมกัน ในทางตรงกันข้าม บทเรียนที่เกิดขึ้นกับยุโรปกลับจะทำให้เอเชียไปถึงเป้าหมายการเป็นสหภาพด้านการเงิน หรือการใช้สกุลเงินร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่สิ่งที่ประเทศเอเชียจำเป็นต้องเตรียมความพร้อม คือ สร้างความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจในเอเชียสามารถผนวกรวมกันได้ และขจัดกำแพงในด้านต่างๆลง เมื่อให้การค้า การลงทุน ธุรกรรมการเงิน และประชาชนสามารถเคลื่อนตัวอย่างมีอิสระได้ในทุกประเทศ" นายคาวาอิกล่าว

นอกจากนี้ นายคาวาอิกล่าวว่า ประเทศเอเชียจำเป็นต้องลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์ เนื่องจากเศรษฐกิจเอเชียเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น เพราะหากเอเชียยังคงพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์ต่อไปทั้งๆที่เศรษฐกิจในภูมิภาคขยายตัวได้ดีนั้น ก็เท่ากับนโยบายการเงินของเอเชียถูกกำหนดโดยประเทศอื่นๆที่อยู่รอบนอกเอเชีย

ทุนสำรองสกุลเงินดอลลาร์ในภูมิภาคเอเชียกำลังปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากธนาคารกลางในเอเชียเข้าแทรกแซงตลาดเพื่อจะรักษาสกุลเงินในประเทศตนเองให้สามารถแข่งขันได้และเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมส่งออก โดยในเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของจีนมีอยู่มากที่สุดในโลกถึง 2.45 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่ทุนสำรองเงินต่างประเทศของไต้หวันพุ่งทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 3.60 แสนล้านดอลลาร์ในเดือนที่แล้ว

แนวคิดในการจัดตั้งสกุลเงินเดี่ยวเอเชียมีขึ้นครั้งแรกในช่วงปี 2540 - 2541 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลไทยประกาศลดค่าเงินบาท จนนำไปสู่วิกฤตการณ์การเงินในภูมิภาคและฉุดให้สกุลเงินอื่นๆในเอเชียดิ่งลงอย่างหนัก

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเอเชีย ซึ่งไม่นับรวมญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนเศรษฐกิจโลกให้ขยายตัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ