ก.เกษตรฯเผย 4 เดือนแรกปี 53 มูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรพุ่งเกือบ 5 แสนลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 22, 2010 13:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ในฐานะโฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ภาพรวมการส่งออกสินค้าที่สำคัญในช่วงเดือนมกราคม - เมษายน 2553 ซึ่งมีมูลค่าส่งออกสินค้ารวม 1,911,548 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 คิดเป็น 24.36% และเมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกทั้งหมดของเดือนเมษายน 2553 เมื่อเปรียบเทียบช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาพบว่าเพิ่มขึ้น 23.01% แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม พบว่า ลดลง 15.57% และจากการติดตามการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมด พบว่า มีมูลค่าการส่งออกรวม 473,040 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 คิดเป็น 31.66%

โดยสินค้าสำคัญที่มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ข้าว มันสำปะหลัง น้ำตาลดิบ ยางพารา และกุ้งแช่เย็นแช่แข็ง ส่วนสินค้าที่มูลค่าส่งออกลดลงได้แก่ ข้าวหอม มะลิ สับปะรดกระป๋อง และเนื้อไก่ ซึ่งข้าวหอมมะลิมีมูลค่าส่งออกลดลงในส่วนที่เป็นข้าวท่อน เนื่องจากประเทศนำเข้า ได้แก่ ประเทศทางแอฟริกามีปัญหาทางทางเศรษฐกิจทำให้หันไปบริโภคข้าวคุณภาพต่ำและข้าวสาลีที่มีราคาถูกกว่า

สับปะรดกระป๋อง มูลค่าส่งออกลดลงเนื่องจากประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญสั่งซื้อลดลงจากปัญหาเศรษฐกิจที่ซบเซาประกอบกับราคาส่งออกลดลง ส่วนไก่เนื้อมูลค่าส่งออกลดลงเนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยน ของไทยปรับตัวแข็งค่าขึ้นประกอบประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นตลาดหลักเริ่มหันกลับไปซื้อเนื้อไก่ปรุงแต่งจากจีนที่มีราคาถูกกว่า

สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรเดือนเมษายน 2553 เมื่อเปรียบเทียบเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา พบว่าเพิ่มขึ้น 14.64% แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม พบว่า ลดลง 23.16%

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาการส่งออกเป็นรายสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรหลักที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว พบว่า มีปริมาณส่งออกรวม 2,684,774 ตัน มูลค่า 54,406.00 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาปริมาณการส่งออกลดลง 1.32% แต่มูลค่าเพิ่มขึ้น 2.73 ตามลำดับ

สำหรับมูลค่าส่งออกข้าวเดือนเมษายน 2553 เมื่อเปรียบเทียบเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมาพบว่าลดลง 17.72% และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม ลดลง 30.04 % โดยตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญของไทย ได้แก่ ไนจีเรีย สหรัฐอเมริกา แอฟริกา ฟิลิปปินส์ และจีน มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ พบว่า มีปริมาณส่งออกรวม 3,433,478 ตัน มูลค่า 27,909 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น 92.29% และ 125.02 ตามลำดับ สำหรับมูลค่าส่งออกมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์เดือน เมษายน 2553 เมื่อเปรียบเทียบเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมาพบว่าเพิ่มขึ้น 108.67% และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม เพิ่มขึ้น 0.64 % ส่วนตลาดส่งออกมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ที่สำคัญของไทยได้แก่ จีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย และไต้หวัน ตามลำดับ

ด้านการส่งออกน้ำตาลดิบ พบว่า มีปริมาณส่งออกรวม 1,022,429 ตัน มูลค่า 13,910.60 ล้านบาทเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น 25.96% และ 66.14 สำหรับมูลค่าส่งออกน้ำตาลดิบเดือน เมษายน 2553 เมื่อเปรียบเทียบเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมาพบว่าลดลง 10.07% และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม ลดลง 34.77% ตลาดส่งออก น้ำตาลดิบที่สำคัญของไทยได้แก่ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น บังคลาเทศ มาเลเซีย และ เกาหลีใต้ ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกยางพารามีปริมาณส่งออกรวม 915,535 ตัน มูลค่า 77,457.50 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น 2.44% และ 87.53

สำหรับมูลค่าส่งออกยางพารา เดือนเมษายน 2553 เมื่อเปรียบเทียบช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาพบว่าเพิ่มขึ้น 71.00% แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม ลดลง 31.79 % ตลาดส่งออกยางพารา ที่สำคัญของไทยได้แก่ จีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้ ตามลำดับ สำหรับการส่งออกไก่เนื้อปรุงแต่ง มีปริมาณส่งออกรวม 115,759 ตัน มูลค่า 14,329.60 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น 9.30 % แต่มูลค่าส่งออกลดลง 5.38

ส่วนมูลค่าส่งออกเนื้อไก่ปรุงแต่ง เดือน เมษายน 2553 เมื่อเปรียบเทียบเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมาพบว่าลดลง 11.70 % และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม ลดลง 25.16 % ตลาดส่งออกไก่เนื้อที่สำคัญของไทยได้แก่ ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และสิงค์โปร์ ตามลำดับ

และสุดท้าย คือการส่งออกกุ้งแช่เย็นแช่แข็ง มีปริมาณส่งออกรวม 64,613 ตัน มูลค่า 13,386.20 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาปริมาณและมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น 17.51 % และ 25.33 ตามลำดับ สำหรับมูลค่าส่งออกกุ้งแช่เย็นแช่แข็งเดือนเมษายน 2553 เมื่อเปรียบเทียบเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมาพบว่าเพิ่มขึ้น 3.44 % แต่เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม พบว่า ลดลง 20.37% โดยตลาดส่งออกกุ้งแช่เย็นแช่แข็ง ที่สำคัญของไทยได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น แคนนาดา จีน และเกาหลีใต้

นอกจากนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรยังได้ติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ ณ ไร่นาสัปดาห์นี้ พบว่า สินค้าที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างมาก คือ ผลไม้ ซึ่งได้แก่ ทุเรียน เงาะโรงเรียน มังคุด และลองกอง เนื่องจากผลผลิตในภาคตะวันออกออกสู่ตลาดลดลงเพราะเป็นช่วงปลายฤดูกาล แต่อย่างไรก็ตามผลไม้ภาคใต้เริ่มออกสู่ตลาดบ้างแล้ว

สินค้าอื่นๆที่ปรับตัวในทิศทางที่สูงขึ้นในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน และไก่เนื้อ โดยราคาปาล์มน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ซึ่งเป็นผลผลิตจากต้นปาล์มที่มีอายุมาก จึงมีผลให้เปอร์เซ็นต์น้ำมันค่อนข้างดี และไก่เนื้อราคาสูงขึ้นเนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลงจากอากาศที่ร้อนทำให้ไก่โตช้า

ส่วนสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลงในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ข้าวนาปรัง มันสำปะหลัง ยางพารา สุกร และ ไข่ไก่ราคาปรับตัวลดลงเล็กน้อย ขณะที่สัปดาห์หน้าคาดว่าราคาสินค้าเกษตรจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก โดยผลไม้ราคาอาจจะปรับตัวลดลง เนื่องจากผลไม้ภาคใต้และลำไยภาคเหนือจะเริ่มออกสู่ตลาด สำหรับ ยางพารา คาดว่าราคาจะยังคงผันผวน ตามทิศทางราคาตลาดโลกและราคาน้ำมัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ