เรคกูเรเตอร์เดินหน้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าใหม่ คาดเพิ่มการเก็บเงินเข้ากองทุนฯ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday July 7, 2010 12:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) หรือเรคกูเรเตอร์ คาดว่า การร่างระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า พ.ศ.... จะแล้วเสร็จภายในเดือนก.ค.นี้ และจะสามารถประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาภายในเดือนส.ค.

ทั้งนี้ ร่างระเบียบดังกล่าว จะใช้ในการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า นำไปพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า โดยขั้นตอนต่อไปหลังจากที่ประกาศใช้ระเบียบดังกล่าวแล้ว จะมีการสรรหาคณะกรรมการเพื่อเข้ามาทำหน้าที่บริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่ต่อไป

นายดิเรก กล่าวว่า ได้มีการปรับข้อกำหนดในการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนของโรงไฟฟ้า โดยเพิ่มการจัดเก็บจากผู้ผลิตไฟฟ้าทั้งหมดที่นำมาจำหน่าย ยกเว้นผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิต จากเดิมที่เก็บเฉพาะผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่ายเท่านั้น โดยการปรับเพิ่มดังกล่าวจะทำให้กองทุนฯ มีเงินเพิ่มขึ้นจากเดิมที่เก็บได้ประมาณ 1,800 ล้านบาท/เดือน มาเป็น 2,000 ล้านบาท/เดือน

โดยกองทุนใหม่จะเริ่มดำเนินการหลังจากประกาศมีผลบังคับใช้ ทำให้กองทุนเดิมต้องยุติหน้าที่ลงทันที จากปัจจุบันที่มีเงินหมุนเวียนประมาณ 2,000 ล้านบาท แต่จะใช้เงินจากกองทุนเดิมให้หมดก่อนที่กองทุนใหม่จะมีผลบังคับใช้

สำหรับอัตรานำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้าสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าในส่วนของผู้รับใบอนุญาตรายใหม่ หากอยู่ในระหว่างก่อสร้างให้จัดเก็บในอัตราปีละ 50,000 บาท/เมกกะวัตต์ แต่ถ้ามีเริ่มมีการผลิตไฟฟ้าแล้วให้จัดเก็บตามปริมาณการผลิตพลังงานไฟฟ้าในแต่ละเดือน แบ่งเป็นก๊าซธรรมชาติ 1 สตางค์/หน่วย, น้ำมันเตา-น้ำมันดีเซล 1.5 สตางค์/หน่วย, พลังงานลมแสงอาทิตย์-ก๊าซชีวภาพ-ชีวมวล-เศษวัสดุเหลือใช้ 1 สตาง/หน่วย, พลังงานน้ำ 2 สตางค์/หน่วย ส่วนผู้รับใบอนุญาตรายปัจจุบันจัดส่งเฉพาะช่วงระหว่างการผลิตไฟฟ้าเท่านั้น

นายดิเรก กล่าวว่า ข้อดีของการจัดตั้งกองทุนใหม่นี้ทำให้สามารถเก็บสะสมเงินไว้ในกองทุนต่อไปได้ ส่งผลให้มีการวางแผนในระยะยาวได้ จากกองทุนเดิมที่จะต้องใช้เงินให้หมดภายใน 1 ปี ทำให้มีเงินเหลือพอที่ไปช่วยเหลือกองทุนอื่นที่มีขนาดเล็กกว่า นอกจานี้ยังมีการตรวจสอบความโปร่งใสจากสำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และทำให้มีการเก็บเงินเข้ากองทุนได้เพิ่มขึ้น

ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าที่เป็นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) จำนวน 28 แห่ง โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (IPP) จำนวน 10 แห่ง โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก(SPP)จำนวน 50-60 แห่ง และโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก(VSPP) จำนวน 134 แห่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ