อดีตรมว.คลังสหรัฐคาดศก.ฟื้นตัวช้า ชี้มาตรการกระตุ้นรอบใหม่ไม่ช่วยพลิกฟื้นศก.

ข่าวต่างประเทศ Monday August 9, 2010 11:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพอล โอนีล และนายโรเบิร์ต รูบิน อดีตรมว.คลังสหรัฐ กล่าวให้สัมภาษณ์ทางรายการ “Fareed Zakaria GPS" ทางสถานีโทรทัศน์ CNN ว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ และคาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่อาจจะไม่ส่งผลในเชิงบวกต่อเศรษฐกิจมากนัก

รูบินซึ่งเป็นอดีตรมว.คลังสหรัฐในยุคที่บิล คลินตัน ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มชะลอตัวและมีอัตราการขยายตัวที่เชื่องช้า นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่อาจจะส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอนมากขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคด้วย

ด้านนายโอนีลซึ่งเป็นอดีตรมว.คลังสหรัฐในยุคที่จอร์จ ดับเบิลยู บุช ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี กล่าวว่า บริษัทเอกชนในสหรัฐมีความวิตกกังวลว่าดีมานด์ภายในประเทศจะไม่ขยายตัว และบริษัทอาจยังไม่จ้างงานใหม่จนกว่ายอดขายจะฟื้นตัวขึ้น สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เขาคาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐจะเป็นไปอย่างเชื่องช้า แต่ก็อาจจะไม่ถึงขั้นวิกฤต

เศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มขยายตัวช้าลงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เนื่องจากอัตราว่างงานที่สูงขึ้นทำให้ผู้บริโภคลดการจับจ่ายใช้สอย ขณะเดียวกันความกังวลเกี่ยวกับยอดขาดดุลการคลังที่พุ่งสูงขึ้นได้ส่งผลให้ประธานาธิบดีบารัค โอบามา เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติปล่อยให้นโยบายลดหย่อนภาษีสำหรับร่ำรวยซึ่งบังคับใช้โดยอดีตประธานาธิบดีบุชนั้น หมดอายุลงในปีนี้

ทั้งนี้ รูบินสนับสนุนจุดยืนของโอบามา ขณะที่โอนีลย้ำว่า เขาคัดค้านนโยบายลดหย่อนภาษีที่รัฐบาลของบุชประกาศใช้เมื่อปี 2546 พร้อมกับกล่าวว่าประธานาธิบดีโอบามาและเจ้าหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติของสหรัฐจำเป็นต้องเร่งปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษี แทนการใช้นโยบายลดหย่อนภาษีที่ใกล้จะหมดอายุลง ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 2 ปี 2553 ของสหรัฐ ขยายตัวเพียง 2.4% ต่อปี ซึ่งชะลอตัวลงเมื่อทียบกับจีดีพีไตรมาสแรกที่ผ่านการทบครั้งใหม่ว่าขยายตัว 3.7% และน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าจะขยายตัวในอัตรา 2.5% ต่อปี ในขณะที่ตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภคชะลอตัว และยอดขาดดุลการค้าพุ่งสูงขึ้น

นอกจากนี้มีรายงานว่า ภาคเอกชนเพิ่มการจ้างงานเพียง 71,000 อัตราในเดือนก.ค. ซึ่งน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่ตัวเลขจ้างงานนอกภาคการเกษตร (nonfarm payroll) เดือนก.ค.ลดลงมากเกินคาด 131,000 อัตราเมื่อเทียบเป็นรายเดือน ซึ่งเป็นหลักฐานล่าสุดที่บ่งชี้ว่าตลาดแรงงานอยู่ในภาวะซบเซา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ