ครม.เห็นชอบ AOT นำเกณฑ์แก้ผลกระทบด้านเสียงช่วงฤดูร้อนมาใช้ช่วงหน้าหนาว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 31, 2010 16:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบในหลักการให้ บมจ.ท่าอากาศยานไทย(AOT) หรือ ทอท.ดำเนินการแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านเสียงจากการดำเนินงาน ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กรณีการบินในช่วงฤดูหนาว โดยให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับช่วงฤดูร้อนที่ ทอท.ได้ถือปฏิบัติมา

เนื่องจากลักษณะการบินของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมี 2 ลักษณะ คือ ช่วงฤดูร้อนที่เป็นกรณีการบินลงที่ปลายทางวิ่งด้านทิศเหนือและบินขึ้นที่ปลายทางวิ่งด้านทิศใต้ และช่วงฤดูหนาวเป็นกรณีการบินลงที่ปลายทางวิ่งด้านทิศใต้และบินขึ้นที่ปลายทางวิ่งด้านทิศเหนือ โดยมติ ครม.เมื่อวันที่ 29 พ.ค.50 และวันที่ 10 พ.ย.52 ครอบคลุมเฉพาะกรณีการบินช่วงฤดูร้อนที่ใช้ทางวิ่งที่ 1 และ 2 เต็มความสามารถสูงสุดของจำนวน 76 เที่ยวบิน/ชั่วโมง เฉพาะการบินลงที่ปลายทางวิ่งฝั่งตะวันตกด้านทิศเหนือ 80% ของเที่ยวบินทั้งหมด และการบินลงที่ปลายทางวิ่งฝั่งตะวันออกด้านทิศเหนือ 20% ของเที่ยวบินทั้งหมด ซึ่งมีผลทำให้การแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านเสียงไม่ครอบคลุมอาคารและสิ่งปลูกสร้างตามแผนที่ช่วงฤดูหนาว ซึ่งผู้ได้รับผลกระทบได้ขอให้ทบทวนมติ ครม.เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ที่ได้รับผลกระทบด้วย

โดย มติ ครม.เมื่อวันที่ 29 พ.ค.50 ทอท.ได้ดำเนินการประเมินราคาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ NEF>40 โดยใช้หลักเกณฑ์การประเมินราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่มีการหักค่าเสื่อมราคาและบวกเพิ่มค่าการตลาดแต่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับราคา ดังนั้นเพื่อให้การกำหนดราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบด้านเสียงจากการดำเนินงานมีความเหมาะสมเป็นธรรมและมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องรองรับ มติคณะกรรมการ ทอท.มติเมื่อวันที่ 1 ธ.ค.50 ให้มีการประเมินราคาอสังหาริมทรัพย์โดยเทียบเคียงกับแนวทางการกำหนดค่าเสียหายที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนตามกฎหมายที่ได้ดำเนินการมาแล้ว

ทั้งนี้ หากมีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์วิธีการประเมินราคาจากที่ได้ดำเนินการมาแล้วอาจเกิดผลกระทบ คือ กลุ่มที่ยอมรับราคา และ ทอท.ได้ซื้อขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไปแล้ว, กลุ่มที่ยอมรับราคาและอยู่ระหว่างการดำเนินการซื้อขายต้องประเมินราคาใหม่ทั้งหมด ซึ่งจะมีผลทำให้การดำเนินงานล่าช้า และการประเมินราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง โดยวิธีเทียบเคียงแนวทางการกำหนดค่าทดแทนความเสียหายที่ต้องออกจากอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนตามกฎหมาย มีกฎหมายรองรับ เป็นวิธีการที่เป็นธรรมและทำให้ผู้ปฏิบัติมีกรอบการทำงานที่ชัดเจน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ