(เพิ่มเติม) ผู้ว่าธปท.ระบุไม่พบการถล่มค่าเงิน,ไม่จำเป็นใช้มาตรการคุมเงินทุนไหลเข้า-ออก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 1, 2010 15:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ยอมรับว่า ขณะนี้ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วมาก และแข็งค่าอันดับ 2 รองจากค่าเงินริงกิตของมาเลเซีย เนื่องจากเงินทุนไหลเข้ามาเร็ว ประกอบกับ การส่งออกที่ขยายตัวสูง เศรษฐกิจเติบโตได้ดี และความเชื่อมั่นค่อนข้างดี โดยยังไม่พบว่ามีการเข้ามาโจมตีค่าเงินบาท

อย่างไรก็ตาม มองว่าในแง่การส่งออกยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ก็ยอมรับว่าส่วนหนึ่งอาจจะกระทบรายได้ผู้ส่งออกที่แปลงเป็นเงินบาท ซึ่ง ธปท.มีนโยบายในการดูแลไม่ให้ค่าเงินมีความผันผวนมากเกินไป แต่ก็ไม่ได้มีเกณฑ์ดูแลค่าเงินให้อยู่ในระดับใดระดับหนึ่ง และไม่มีความจำเป็นต้องใช้นโยบายควบคุมเงินทุนไหลเข้า-ออก

"ยอมรับว่าค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วเพราะเงินไหลเข้ามาเร็ว บวกกับรายได้จากการส่งออกที่ขยายตัวเดือนละ 30, 32, 35% ขณะเดียวกันตัวเลขเศรษฐกิจของเราก็ดี ความเชื่อมั่นก็ค่อนข้างดี มันก็เหมือนม้าตีนปลาย คือ วิ่งตามคนอื่น แต่ในที่สุด เราก็ยังวิ่งไปตามทิศทางเดียวกับภูมิภาค ที่เศรษฐกิจดี สถาบันการเงินเติบโต ยังสามารถขยายตัวต่อเนื่องได้เทียบกับประเทศจี 3 และประเทศที่พัฒนาอื่นๆ มันมีความแตกต่างชัดเจน มีอนาคต จึงมีเงินไหลเข้ามา...บาทแข็งค่าสะท้อนปัจจัยเศรษฐกิจที่ขยายตัวดี ไม่มีการเข้ามาถล่ม ในวันพรุ่งนี้ (2 ก.ย.)จะไปรายงานเรื่องค่าเงินบาทต่อนายกรัฐมนตรี" ผู้ว่าธปท. ระบุ

ผู้ว่าธปท. กล่าวต่อว่า แนวโน้มเงินทุนไหลเข้าในช่วงต่อไปก็ยังจะมีอยู่ แต่มีทั้งไหลเข้ามาและไหลออกไป หากเศรษฐกิจสหรัฐชะลอลง เงินทุนก็จะไหลเข้ามาเอเชีย รวมถึงไทย ซึ่งเป็นเงินที่เข้าเร็วออกเร็วเรียกว่าเงินร้อน ไม่ได้หมายความว่าจะเข้ามาเก็งกำไร แต่อาจจะมาพักไว้ก่อน แต่ยอมรับว่าเงินทุนจะไหลเข้า-ออกเร็วหากมีข่าวมากระทบ

ดังนั้น อย่าไปคาดการณ์ว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าอย่างนี้เรื่อยไป เพราะหากในอนาคตตเศรษฐกิจไทยขยายตัวดีต่อเนื่อง ก็จะทำให้มีการนำเข้ามากขึ้น ก็จะมีโอกาสของการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย

นางธาริษา กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่คิดว่าควรจะมีมาตรการใดเข้ามาควบคุมภาวะเงินทุนไหลเข้า-ออก เพราะไม่ได้เกิดจากปัจจัยภายในประเทศ ซึ่งหากเกิดจากภายในประเทศ ก็คงต้องกลับมาคิดหนักว่าเรามีจุดอ่อนจุดแข็งต่างจากภูมิภาคอย่างไรบ้าง แต่เท่าที่พิจารณาในขณะนี้ยังไม่พบปัจจัยใด ๆ เป็นพิเศษ

พร้อมยกตัวอย่าง ธนาคารกลางชาติอื่นๆ เช่น สิงคโปร์ใช้มาตรการควบคุมเงินไหลเข้า-ออก เพราะเงินไหลเข้ามาทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ของสิงคโปร์ร้อนแรง จึงมีมาตรการให้ธนาคารพาณิชย์ปรับเกณฑ์การปล่อยกู้จากเดิม 80% ของมูลค่าโครงการ ลดลงมาเป็น 70% เพื่อป้องกันปัญหาฟองสบู่ หรือ อินโดนีเซีย มีมาตรการควบคุมเงินทุนไหลออก โดยกำหนดให้เงินไหลเข้ามาแล้วต้องพักในประเทศ 3 เดือน ขณะที่เกาหลีก็มีมาตรการลดความผันผวนของเงินไหลเข้า

ส่วนของไทยไม่ได้มีเงินไหลเข้ามามาก และไม่พบปัญหาฟองสบู่ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ ที่สำคัญเมื่อปี 49 เราเคยใช้มีมาตรการกันสำรอง 30% ตรงนี้ยังเป็นปัจจัยให้นักลงทุนเพิ่มความระมัดระวังที่จะนำเงินเข้าไทย และแม้ว่าตอนนี้เราจะเลิกมาตรการนี้ไปแล้ว แต่นักลงทุนยังกล้า ๆ กลัว ๆ

"พวกเราในภูมิภาคมีบทเรียนเรื่องนี้อยู่แล้ว...สิ่งที่เราทำไว้ ยังเตือนใจนักลงทุน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อเรา คือไม่ต้องมีมาตรการเขาก็คิดว่าเรายังมี URR อยู่ เราอยากให้เขาคิดแบบนั้น การที่เรามี action เหล่านั้นทำให้นักลงทุนเกร็ง และยังเก็บมาตรการ 30% ไว้ในกระเป๋า"ผู้ว่าการ ธปท. ระบุ

สำหรับการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งล่าสุด มีการพิจารณาปัจจัยเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนด้วย แต่จะดูผลกระทบต่อเงินเฟ้อเป็นหลัก เนื่องจากไทยใช้ Inflation Targeting เพราะเมื่อบาทแข็งค่าการนำเข้าสินค้าจะถูกลง ซึ่งจะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อภายในประเทศ ตรงกันข้ามหากเงินบาทอ่อนก็จะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อเช่นกัน

นางธาริษา กล่าวถึงอัตราเงินเฟ้อล่าสุดที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศในวันนี้ เงินเฟ้อทั่วไปเดือน ส.ค.อยู่ที่ 3.3% แรงขึ้นมาจากราคาพืชผัก ผลไม้แพงขึ้น และราคาน้ำมันด้วย ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานยังต่ำที่ 1.2% ย้ำว่าเงินเฟ้อปีนี้ไม่มีปัญหา แต่ประเด็นจะอยู่ที่ปี 54 โดยเงินเฟ้อมีโอกาสจะแตะขอบบนของกรอบเป้าหมาย ดังนั้น การทำนโยบายดอกเบี้ยตั้งแต่เนิ่นๆ เป็นผลดีเพราะต้องใช้เวลาในการส่งผ่านนโยบาย

พร้อมระบุว่า ในที่สุดอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ก็จะปรับตัวขึ้น เพราะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นจะทำให้ความต้องการสินเชื่อเร่งตัวขึ้น ดังนั้นเมื่อดีมานด์สินเชื่อเร่งตัวขึ้นก็จะต้องปรับเงินฝากขึ้น

"การปรับขึ้น R/P เป็นการส่งสัญญาณหมดยุคดอกเบี้ยต่ำ แต่แม้ว่าดอกเบี้ย R/P จะขึ้นแต่ว่ายังต่ำเพราะดอกเบี้ยที่แท้จริงยังติดลบ" นางธาริษา กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ