"กรณ์"โพสต์เฟซบุ๊คเสียดาย 3G แต่รับจำเป็นตรวจสอบ/เดินหน้า 2แนวทางแก้ปัญหา

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 24, 2010 10:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คถึงกรณีที่ศาลปกครองสูงสุดสั่งระงับประมูล 3G ว่า รู้สึกเสียดายเหมือนกับทุกคน แต่เห็นว่าเป็นความจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบเพื่อให้กระบวนการทุกอย่างเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มอง 2 แนวทางที่ทำได้ในขณะนี้ คือ ผลักดันพัฒนา 3จีบนคลื่นเดิมพร้อมกับปรับสัมปทาน 2G เป็น 3G และการเร่งรัดจัดตั้ง กสทช.

รมว.คลัง ระบุว่า รู้สึกเสียดายไม่ต่างจากหลายคนกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับการประมูล 3G โดยเฉพาะในมุมมองของเศรษฐกิจที่ว่าหาก 3Gเกิดขึ้นเร็วขึ้นเท่าใดก็จะส่งผลดีต่อสภาวะเศรษฐกิจโดยรวมขึ้นเท่านั้น ทั้งในด้านการลงทุน การบริโภค และโดยเฉพาะทางเลือกของประชาชนที่เพิ่มขึ้นในการเข้าถึงเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพดีมากขึ้นกว่าที่เรามีใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

แต่เมื่ออ่านเหตุผลของการคุ้มครองของศาลปกครองแล้วก็เข้าใจหลักการที่ว่าความเป็นนิติรัฐนั้นทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย เพื่อปกป้องสิทธิของทุกคน จะทำตามใจอย่างที่เราต้องการอยากให้เป็นอย่างเดียวไม่ได้

ส่วนเหตุผลที่รัฐบาลไม่ระงับการฟ้องร้องของบมจ.กสท. โทรคมนาคมนั้น ตามมุมมองส่วนตัวเห็นว่าหากกระบวนการของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.)ชอบด้วยกฎหมาย การประมูลก็ไม่น่าจะประสบปัญหาจากการฟ้องร้องดังกล่าว เพราะฉะนั้นปัญหาคือความไม่ชัดเจนในอำนาจของ กทช.ซึ่งประเด็นนี้รู้ก่อนประมูลดีกว่ารู้หลังประมูล

"รัฐบาลไม่ควรมีสิทธิในการบังคับหรือห้ามใครให้ใช้สิทธิทางกฎหมายที่พึงมีแต่รัฐบาลก็ต้องไม่สนับสนุนการใช้กฎหมายกลั่นแกล้งผู้ที่อ่อนแอกว่า"นายกรณ์ ระบุ

สำหรับสิ่งที่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทำได้ต่อไปมีอยู่สองแนวทาง คือ ผลักดันเทคโนโลยี 3G บนคลื่นความถี่ที่ใช้กันอยู่แล้ว ซึ่งในขณะนี้เอกชนทุกค่ายมีการติดตั้งระบบและทดลองใช้กันอยู่แล้วในบางพื้นที่ แต่ยังไม่ได้เปิดใช้ในเชิงพาณิชย์ เพราะต้องมีการแก้ไขสัมปทานเดิม หรือ ยุติและออกใบอนุญาตใหม่ ซึ่งก็เป็นแผนที่รัฐบาลเสนอให้ กทช. พิจารณาอยู่แล้ว

ขณะที่กระทรวงการคลังเร่งดำเนินการตามมาตรา 22 ที่จะเสนอแก้สัมปทานเพื่อผู้ประกอบการจะได้ให้บริการ 3Gได้ ซึ่งได้มีการปรึกษาเบื้องต้นกับรมว.ไอซีทีแล้ว ก็จะมีคนวิพากษ์วิจารณ์ทันทีว่าเมื่อสัญญาสัมปทานเหลือเพียงแค่ 3 ปี, 5 ปี, 8 ปี เอกชนจะกล้าลงทุนหรือ

ทั้งนี้ ส่วนตัวเชื่อว่าการลงทุนใหม่เกิดขึ้นแน่ แต่การแข่งขันไม่เสมอภาค ซึ่งเป็นประเด็นที่พูดมาโดยตลอดและเป็นสาเหตุที่รัฐบาลมีมติให้ยกเลิกสัมปทานเพื่อนำไปสู่การออกใบอนุญาตที่กทช.จะเป็นผู้กำกับดูแลเพื่อให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรม

อีกแนวทางหนึ่งคือเร่งรัดการจัดตั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญใหม่คือ กสทช. ซึ่งรัฐบาลโดยผ่านสภาจะพยายามผลักดันให้กฎหมายคลอดออกโดยเร็ว และจัดตั้งกรรมการโดยเร็ว เนื่องจากมีบทเรียนจากการตั้งกรรมการ กทช.ในครั้งที่แล้ว ณ ปัจจุบันร่าง พ.ร.บ. ผ่านการพิจารณาโดยสภาล่างและสภาบนแล้ว เหลือเพียงขั้นตอนสุดท้ายคือกรรมาธิการร่วมของสองสภา คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ