(เพิ่มเติม) EXIM BANK ขยายสินเชื่อเอื้อการลงทุนในตปท.ช่วงบาทแข็ง,SME Bank ตรึงดบ.ถึงสิ้นปี

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 24, 2010 13:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนริศ ชัยสูตร ประธานกรรมการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ในภาวะเงินบาทแข็งค่าปัจจุบัน EXIM BANK พร้อมร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) และกระทรวงพาณิชย์ ขยายวงเงินสินเชื่อให้แก่นักลงทุนไทยที่มีศักยภาพเข้าไปลงทุนในต่างประเทศ รวมทั้งย้ายฐานการผลิตของไทยไปยังต่างประเทศที่มีความพร้อมด้านวัตถุดิบและแรงงาน โดยเฉพาะในตลาดการค้าเสรีอาเซียน+6(จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย)

นอกจากนี้ EXIM BANK ได้จัดทำโครงการส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต (Modernization Program) โดยพร้อมขยายวงเงินกู้ให้แก่ผู้ประกอบการไทยสำหรับการนำเข้าหรือปรับปรุงเครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิต เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมไทยในระยะยาว

นายนริศ กล่าวว่า สำหรับผู้ส่งออกโดยทั่วไปโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก(SMEs) ที่อาจเข้าไม่ถึงบริการจากธนาคารพาณิชย์นั้น EXIM BANK พร้อมให้สินเชื่อเพื่อเตรียมการส่งออกเป็นสกุลเงินบาทควบคู่กับบริการทำสัญญาขายเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐล่วงหน้า(Forward Contract) ในวงเงินขั้นต่ำ 10,000 ดอลลาร์/ฉบับสัญญาซื้อขาย ขณะที่ธนาคารพาณิชย์โดยทั่วไปจะให้บริการในวงเงินขนาดใหญ่เท่านั้น นอกจากนี้ผู้ส่งออกสามารถเลือกใช้สินเชื่อเพื่อเตรียมการส่งออกเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐของ EXIM BANK ก็ได้เช่นกัน

ทางด้านนายโสฬส สาครวิศว กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) กล่าวว่า ธนาคารฯ จะพยายามคงดอกเบี้ยสินเชื่อไปจนถึงสิ้นปีนี้ แม้จะเป็นช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น เนื่องจากถ้าธนาคารฯ ปรับอัตราดอกเบี้ยให้เป็นไปตามทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย ก็จะส่งผลต่อต้นทุนของผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้นอีกจนไม่สามารถแข่งขันได้ โดยเฉพาะธุรกิจ SME ด้านส่งออก

ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อธนาคารอยู่ที่ MLR-2% หรือประมาณ 5% ของการกู้ในปีแรก

ทั้งนี้ มองว่า ในการการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 20 ตุลาคมนี้ ควรจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ยก่อน เพื่อเป็นการชะลอการแข็งค่าของเงินบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ