KBANK มองมาตรการบ้านหลังแรกทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ลดต้นทุนผู้ซื้อบ้าน 19%

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday September 27, 2011 17:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า การออกมาตรการบ้านหลังแรกของรัฐบาล ทั้งโครงการคืนเงินภาษีบ้านหลักแรก 10% ทยอยคืนใน 5 ปี สำหรับบ้านราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท และสินเชื่อ 0% 3 ปี สำหรับบ้านไม่เกิน 2 ล้านบาท จะช่วยลดต้นทุนของผู้ซื้อบ้านได้รวมกว่า 19%ต่อปี โดยผู้ที่เกี่ยวข้องในภาคอสังหาริทรัพย์น่าจะได้รับประโยชน์กันถ้วนหน้า และไม่น่ามีผลกระทบอื่น เพราะเป็นมาตรการของรัฐบาลที่ช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศ

อย่างไรก็ตามมองว่า มาตรการดังกล่าวมองว่าน่าจะช่วยระบายสต็อคบ้านเดิมที่ปัจจุบันมีกว่า 1 แสนยูนิต และน่าจะทำให้โครงการอสังหาริมทรัพย์หันมาออกโครงการใหม่ตามความต้องการของลูกค้าในระดับราคาบ้านไม่เกิน 2 ล้านบาท เนื่องจากกลุ่มผู้ที่ได้ประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว น่าจะเป็นกลุ่มผู้มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/เดือนที่มีกำลังซื้อบ้านระดับราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท

ทั้งนี้มองว่ามาตรการดังกล่าวน่าจะช่วยกระตุ้นยอดสินเชื่อในไตรมาส 4/54 ไม่มากแต่น่าจะมีผลเต็มที่ในปี 55 แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกด้วย ซึ่งจะมีผลต่อการตัดสินใจซื้อบ้านของประชาชน

"มองว่าสินเชื่อบ้านหลังแรก 0% ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อการปล่อยสินเชื่อของแบงก์พาณิชย์มากนัก เห็นได้จาก ครึ่งปีแรก สินเชื่อแบงก์รัฐ โต 2.8% จากสิ้นปี 53 แต่สินเชื่อแบงก์พาณิชย์โต 5.4% และตลาดรวมโต 3.7% สะท้อนว่ามาตรการของรัฐมาแย่งมาร์เก็ตแชร์ของแบงก์พาณิชย์ไม่มาก" นายชาติชาย กล่าว

สำหรับปี 54 การปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยของ KBANK คาดว่าจะอยู่ที่ 50,000-55,000 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโต 12-13% โดยช่วง 8 เดือนแรก ธนาคารปล่อยสินเชื่อได้แล้ว 42,000 ล้านบาท และในปี 55 คาดว่าการปล่อยสินเชื่อมีอัตราการเติบโตใกล้เคียงปี 54 ที่ 12-13% คิดเป็นการปล่อยสินเชื่อที่ 50,000-60,000 ล้านบาท

ด้านนายปรีดา ดาวฉาย รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส KBANK กล่าวยอมรับว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกขณะนี้ดูแย่ลงจากที่เคยประเมินไว้ในช่วงกลางปี โดยเฉพาะปัญหาในประเทศยุโรป ซึ่งกำลังลุกลามเป็นลูกโซ่ ไม่สามารถรู้ต้นตอของปัญหาได้ ทำให้เกิดความไม่แน่นอนเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม มองว่าเศรษฐกิจโลกไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยรุนแรง เนื่องจากรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภายในประเทศ รองรับผลกระทบหากการส่งออกชะลอตัว ขณะเดียวกัน การส่งออกไทยได้หันมาทำธุรกิจในเอเซียนมากขึ้น ขณะเดียวกัน มองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นต้องใช้เวลา ดังนั้นทั้งผู้ประกอบการ นักธุรกิจคงต้องมีการตั้งหลัก และปรับตัวรับสถานการณ์เช่นเดียวกับธนาคาร

สำหรับแผนธุรกิจของธนาคารในปี 55 จะพิจาณาจากนโยบายของรัฐบาลเป็นหลัก เพราะจะมีผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจของประเทศ เพราะโดยปกติ ธนาคารจะตั้งเป้าสินเชื่อเติบโตที่ 1.5 เท่าของจีดีพี

"มองว่าจีดีพีปีหน้าน่าจะโตกว่าปีนี้ เพราะรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ มีการเพิ่มรายได้ประชาชน แต่ทั้งนี้ต้อง sustainกันด้วยว่า เพิ่มรายได้แล้ว ผู้ประกอบการก็ต้องขายของได้ด้วย ก็หวังให้สิ่งที่รัฐบาลทำก่อนให้เกิดผลสำเร็จ" นายปรีดี กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ