ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของธนาคารกรุงศรีอยุธยา [BAY] ที่ BBB+ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ AAA(tha) แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ นอกจากนี้ฟิทช์ได้ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินตราต่างประเทศระยะสั้นที่ F1 อันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นที่ bbb+ และอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินที่ bbb
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
การสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นเป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาอันดับเครดิต: อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวและอันดับเครดิตภายในประเทศของ BAY พิจารณาจากอันดับเครดิตสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น (SSR) ซึ่งสะท้อนถึงการคาดการณ์ของฟิทช์ว่ามีโอกาสสูงที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษ (extraordinary support) จากบริษัทแม่ลำดับสูงสุดของกลุ่มจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งคือ Mitsubishi UFJ Financial Group, Inc. (MUFG, A-/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ/a-) อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นของ BAY ที่ F1 ซึ่งเป็นตัวเลือกที่สูงกว่านั้น สะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ว่าโอกาสในการให้การสนับสนุนมีความแน่นอนมากกว่าในระยะสั้น
ทั้งนี้ อันดับเครดิตภายในประเทศ ยังพิจารณาเปรียบเทียบกับโครงสร้างอันดับเครดิตของ BAY เทียบกับสถาบันการเงินอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตเครดิตภายในประเทศจากฟิทช์ และอับดับเครดิตภายในประเทศของ BAY ที่ AAA(tha) บ่งชี้ถึงระดับของโอกาสในการผิดนัดชำระหนี้ที่ต่ำที่สุดในประเทศไทย
เป็นธนาคารลูกที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์: ฟิทช์เชื่อว่า BAY มีบทบาทสำคัญเชิงกลยุทธ์ในการสนับสนุนเป้าหมายการขยายธุรกิจของ MUFG ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ BAY ให้การสนับสนุนลูกค้าของกลุ่มสำหรับการให้บริการด้านการเงินในประเทศไทยซึ่งเป็นจุดหมายการลงทุนที่สำคัญของบริษัท ญี่ปุ่น นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทแม่ยังใช้ความเชี่ยวชาญของ BAY ในด้านสินเชื่อลูกค้ารายย่อยเพื่อขยายธุรกิจไปยังตลาดเกิดใหม่ในภูมิภาค เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม MUFG มีสัดส่วนการถือหุ้น 76.9% ใน BAY และมีการควบคุมดูแล รวมไปถึงการผสานการดำเนินงานในระดับสูง ซึ่งฟิทช์คาดว่าจะดำเนินต่อไป
ภาวะอุตสาหกรรมมีแนวโน้มที่อ่อนแอลง: อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำในปี 2568 ซึ่งเป็นผลมาจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเนื่องจากเป็นระบบเศรษฐกิจแบบเปิด (open economy) ที่มีสัดส่วนการค้าระหว่างประเทศค่อนข้างสูง สถานการณ์ดังกล่าวจะเป็นข้อจำกัดต่อโอกาสการเติบโตและผลการดำเนินงานของธนาคาร ฟิทช์ให้อันดับคะแนนปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่ bbb ซึ่งเป็นในระดับที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับอันดับคะแนนที่ bbตามเกณฑ์ของฟิทช์ เนื่องจากฟิทช์เชื่อว่ารัฐบาลไทยมีบทบาทสำคัญในการสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดการเงิน อาทิ มาตรการกำกับดูแลและมาตรการทางการคลังที่นำมาใช้ระหว่างช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า
มีเครือข่ายธุรกิจในประเทศที่มั่นคง: อันดับคะแนนปัจจัยด้านโครงสร้างธุรกิจของ BAY ที่ bbb สะท้อนถึงเครือข่ายธุรกิจที่มั่นคงและรูปแบบธุรกิจที่หลากหลาย BAY เป็นผู้นำในตลาดสินเชื่อเพื่อลูกค้ารายย่อยของไทย เช่น สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อส่วนบุคคล นอกจากนี้สินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการขนาดใหญ่ของธนาคารยังได้รับประโยชน์จากการแนะนำลูกค้าและความเชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ทางการเงินจาก MUFG
โครงสร้างความเสี่ยงสะท้อนถึงความท้าทายในการดำเนินงาน: อัตราส่วนด้านคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารมีการปรับด้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเป็นผลจากสินเชื่อด้อยคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อในต่างประเทศ และส่งผลให้ฟิทช์ทำการทบทวนและปรับลดอันดับคะแนนปัจจัยด้านโครงสร้างความเสี่ยงเป็น bbb- จาก bbb ทั้งนี้อันดับคะแนนดังกล่าวได้พิจารณารวมถึงการที่ธนาคารมีพอร์ตสินเชื่อที่มีความเสี่ยงต่ำในสินเชื่อธุรกิจกลุ่มบริษัทญี่ปุ่นและกลุ่มบริษัทข้ามชาติในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง แต่อย่างไรก็ตามอาจถูกลดทอนบางส่วนจากสินเชื่อรายย่อยที่มีความเสี่ยงสูงกว่า
แรงกดดันต่อเนื่องในด้านคุณภาพสินทรัพย์: อันดับคะแนนปัจจัยด้านคุณภาพสินทรัพย์ ถูกปรับเป็น bbb- จาก bbb ซึ่งสะท้อนถึงการที่อัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญด้านคุณภาพสินทรัพย์มีการปรับด้อยลงอย่างต่อเนื่อง อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 4.2% ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2568 (2567: 4.2%, 2564:2.6% ) ซึ่งเป็นผลมาจากแรงกดดันจากสินเชื่อกลุ่มลูกค้ารายย่อยภายในประเทศและสินเชื่อด้อยคุณภาพในต่างประเทศการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Stage 3) ยังทำให้อัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพปรับลดลงมาอยู่ที่ 113% ณ สิ้นไตรมาส ที่ 1 ปี 2568 จากระดับสูงสุดที่ 171% ในปี 2564
ความสามารถในการทำกำไรยังคงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้: ฟิทช์คาดว่าความสามารถในการทำกำไรของ BAY อาจมีการปรับตัวอ่อนแอลงบ้าง จากอัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิที่ปรับตัวลดลง และการตั้งสำรองหนี้สูญที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงของ BAY ได้ทรงตัวอยู่ในระดับที่สูงกว่า 2% มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งน่าจะช่วยรองรับความเสี่ยงในระยะสั้นได้ในระดับหนึ่ง อีกทั้งยังเป็นระดับที่สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำพอสมควรสำหรับอันดับคะแนนด้านความสามารถในการทำกำไรณ ปัจจุบันที่ bbb- ทั้งนี้อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงยังคงอยู่ในเกณฑ์ดีที่ 2.2% ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2568
ฐานะเงินกองทุนช่วยรองรับความเสี่ยง: อันดับคะแนนปัจจัยด้านเงินกองทุนของธนาคาร ได้รับการปรับเพิ่มขึ้นเป็น bbb+ จาก bbb จากการปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของอัตราส่วนเงินกองทุนหลักของธนาคาร โดยอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (CET1) ของ BAY อยู่ที่ 17.7% ณ สิ้นไตรมาสที่ 1 ปี 2568 ซึ่งเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยจาก 17.8% ในปี 2567 ซึ่งจะช่วยเป็นกันชนรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
โครงสร้างการระดมเงินทุนได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มบริษัทแม่: อันดับคะแนนปัจจัยด้านการระดมเงินทุนและสภาพคล่องของ BAY ที่ bbb+ เป็นหนึ่งในระดับสูงสุดเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นๆในประเทศไทย ซึ่งสะท้อนถึงประโยชน์ที่ได้รับความเชื่อมโยงกับกลุ่มบริษัทแม่ MUFGมีการให้วงเงินสินเชื่อโดยตรงแก่ธนาคารรวมไปถึงการสนับสนุนจากกลุ่มในด้านการบริหารจัดการด้านสภาพคล่อง