
โบรกเกอร์เทใจเชียร์ "ซื้อ" หุ้น บมจ.กัลฟ์ ดีเวลลอปเมนท์ [GULF] แนวโน้มกำไรสุทธิเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจหลัก ล่าสุดประเมินอัพไซด์ปีนี้อีก 0.50-0.75 บาท จากการเข้าลงทุนใน บลู สกาย วินด์ พาวเวอร์ โฮลดิ้ง (BSWPH) 50% เป็นโครงการพลังงานลม 5 แห่งรวม 436.5 MW ซึ่งจะ COD ในปี 70-73 และเดินหน้าขยายกำลังผลิตโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 746.6 เมกกะวัตต์ (MW) กำหนดCOD ปี 69-70 จำนวน 11 โครงการ ด้วยเงินลงทุน 4.2 หมื่นล้านบาท
GULF ยังมีหลากหลายธุรกิจ อาทิ LNG trading, โทรคมนาคม ผ่าน บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส [ADVANC] และ บมจ.ไทยคม [THCOM] , ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลร่วมกับ Binance และ ธุรกิจ Virtual Bank อีกทั้งกำลังเข้าสู่ธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ ทำให้ GULF แตกต่างจากบริษัทพลังงานไฟฟ้าอื่นๆ
ขณะที่มองว่า GULF แทบไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐ ไม่ว่าผลการเจรจาจะออกมาอย่างไร เนื่องจาก 92% ของรายได้มาจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟผ.โดย 80% มาจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 3% มาจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และอีก 9% จากธุรกิจ LNG
โบรกประเมิน Market Cap ของ GULF จะทะยานไปแตะ 1 ล้านล้านบาท จากปัจจุบัน 6 แสนล้านบาท โดยการเติบโตของกำไรจะผลักดันให้ราคาหุ้นขยับขึ้นตามไปด้วย พร้อมยกป็น "Magnificent Stock" ที่มีศักยภาพในตลาดหุ้นไทย
ราคาหุ้น GULF วันนี้ (14 ก.ค.)ปิดที่ 41.75 บาท เพิ่มขึ้น 1.75 บาท (+4.38%)
โบรกเกอร์ คำแนะนำราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น)
บัวหลวง ซื้อ 72.00
ซีจีเอสไอ ซื้อ 63.00
กสิกรไทย ซื้อ 60.00
กรุงศรี ซื้อ 56.50
เคจีไอ outperform 54.00
โกลเบล็ก ซื้อ 50.00
นายสุวัฒน์ สินสาฎก กรรมการผู้จัดการ บล.โกลเบล็ก ระบุว่า GULF ก้าวข้ามบทบาทผู้ผลิตไฟฟ้า สู่การเป็นอาณาจักรเทคโนโลยีและดิจิทัล ด้วยการลงทุนเชิงกลยุทธ์:
โทรคมนาคม: ผ่านการถือหุ้นใหญ่ใน ADVANC และ THCOM
Virtual Bank: ร่วมทุนกับ ADVANC, KTB และ OR (ปตท.น้ำมันฯ)
ดาวเทียม: จับตาโอกาสใหม่กับ Starlink หากไทยเจรจากับสหรัฐฯ สำเร็จ THCOM อาจมีบทบาทสำคัญ
ศูนย์ข้อมูล (Data Center): เตรียมเปิดดำเนินการเฟส 1 ขนาด 25MW ตั้งแต่เดือนเม.ย. 68 และมีแผนสร้างเฟส 2 ต่อ! คาดสร้างกำไรสุทธิ 0.4-0.6 พันล้านบาทในปี 68-69
GULF มีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจผลิตไฟฟ้า บริษัทเดินหน้าขยายพอร์ตพลังงานหมุนเวียน ล่าสุด ประกาศลงทุน 4.2 หมื่นล้านบาททั้งโรงไฟฟ้าพลังงานลมและโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จากปัจจุบันที่มีกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมด 15,871 MW บริษัทมีแผนจะเพิ่มเป็น 23,852 MW ภายในปี 76 หรือภายใน 8 ปี
โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียน บริษัทต้องการขยายจากกว่า 1,600 MW ไปเป็น 9,000 MW ซึ่งนอกเหนือจากที่ซื้อโรงไฟฟ้าจาก บมจ.กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง [GUNKUL] ยังมีโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำใน สปป.ลาวที่ได้มาแล้ว รอการก่อสร้างในปี 71-73 ซึ่งจะทำให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่เข้ามาเพิ่ม
ขณะที่ธุรกิจโทรคมนาคม คาดว่ายังมีโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาอีก โดยเฉพาะหากไทยเจรจากับสหรัฐ Starlink ก็อาจจะเข้ามาร่วมทุนในไทย ซึ่ง THCOM ก็มีธุรกิจดาวเทียมที่สามารถเปิดดีลเรื่องนี้
ดังนั้น จึงแนะนำ "ซื้อ" หุ้น GULF ด้วย 2-3 เหตุผล คือ ใน 3 ปีนี้จะเห็นการเติบโตของกำไรสุทธิต่อเนื่อง ปี 68 คาดกำไรสุทธิ 2.6 หมื่นล้านบาท, ปี 69 คาด 2.8 หมื่นล้านบาท และปี 70 คาดไว้ 3.2 หมื่นล้านบาท โดยมองว่าน่าจะมีอัพไซด์จากโครงการ Starlink อีกทั้ง GULF มีความพร้อมทั้ง Portfolio และ Business Model ที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นยักษ์ใหญ่ ซึ่งบริษัทฯถือหุ้น ADVANC อยู่ 40% ซึ่งมูลค่าตลาด (Market Cap) ราว 8 แสนล้านบาท สูงกว่า GULF มาก
"เขาน่าจะวิ่งแซง ADVANC ไปได้ ผมคาดว่ามูลค่าตลาดของหุ้น GULF จะโตแตะ 1 ล้านล้านบาทได้ จากการที่บริษัทมีการเติบโตแน่ๆ ทุกๆ ปี เฉลี่ยปีละ 10-15% ในช่วงสั้นคิดว่าสัก 50 บาทน่าจะเห็น มองไปปีหน้าและอีกปีหนึ่ง ปลายปีหรือต้นปีต่อไปนั้นน่าจะเป็นไปได้ (Market Cap แตะ 1 ล้านล้านบาท) ถ้ากำไรโต ราคาก็ควรไป"นายสุวัฒน์ กล่าวGULF ได้กลายเป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ด้วยมูลค่าตลาด 6 แสนล้านบาท หลังจากควบรวมกับ บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ [INTUCH] เพื่อเข้าถือหุ้นใน ADVANC และ THCOM นอกจากนี้ ยังขยายเข้าสู่ธุรกิจ Data Center ใช้จุดแข็งในด้านดิจิทัลและเครือข่ายโทรคมนาคม วางแผนสร้างเฟสแรกขนาด 25MW จะทยอยเปิดเชิงพาณิชย์ตั้งแต่เดือนเม.ย.68 โดยมีกำลังการผลิตเต็มแล้ว และยังมีแผนสร้าง Tier 3 ขนาด 25MW (เฟส 2) คาดกำไรจากธุรกิจนี้ 400-600 ล้านบาทในปี 68-69
นายสุวัฒน์ กล่าวว่า GULF ถูกมองว่าเป็น "Magnificent Stock" ที่มีศักยภาพในตลาดหุ้นไทย เนื่องจากมีพอร์ตธุรกิจหลากหลาย และมีจุดแข็งด้านนวัตกรรม การเติบโตของอุตสาหกรรมระดับโลก และความเป็นผู้นำ
ด้าน บล.กรุงศรี ระบุว่า GULF เข้าลงทุน 50% ใน บลูสกาย วินด์พาวเวอร์โฮลดิ้ง (BSWPH) มูลค่าลงทุนแค่ 375,000 บาท เพื่อถือหุ้น 50% ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม 5 โครงการ กำลังการผลิตรวม 436.5 MW และคิดเป็น Equity MW ที่ 218 MW โดยทั้ง 5 โครงการจะเริ่ม COD ในช่วงปี 70-73 และการขายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ.
เรามอง Positive เนื่องจากโครงการการลงทุนนี้ ถือเป็นดีล M&A ที่ 2 หลังควบรวมของ GULF ที่เข้ามาทดแทนการลดบทบาทในธุรกิจ Virtual Bank โดยต้นทุนการเข้าซื้อ 3.8 แสนบาท ยังไม่รวมการลงทุน CAPEX ที่ใช้พัฒนาโครงการ เบื้องต้นประเมิน Upside จาก Project นี้ต่อเป้าหมายปี 68 ของ GULF ในกรอบ 0.5-0.75 บาท และคาดเป็นส่วนแบ่งกำไรเพิ่มเติมราว 700-800 ลบ. ต่อปีให้แก่ GULF หลัง COD ครบโครงการ
อย่างไรก็ดี เรายังไม่รวมโครงการดังกล่าวเข้ามาในประมาณการ และเราจะมีการอัพเดทอีกครั้งหลังได้รับรายละเอียดเพิ่มเติม
ด้าน Outlook ระยะสั้นคาดกำไรปกติไตรมาส 2/68 ของ GULF หลังควบรวม INTUCH เติบโต y-y, q-q จาก โรงไฟฟ้าใหม่ในไตรมาส 4/67 และไตรมาส 1/68 , แนวโน้มส่วนแบ่งกำไรจาก Jackson ค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นใน H2/68 จากผลการปรับค่าความพร้อมจ่าย Capacity payment ปี 68/69 ตลาด PJM สหรัฐในเดือนมิ.ย. อีกทั้งคาดธุรกิจ LNG trading ยังเติบโต q-q ได้ต่อเนื่อง และการเติบโตแบบ Organic ของส่วนแบ่งกำไรจาก ADVANC
บล.กรุงศรี คงประมาณการและคำแนะนำ "ซื้อ หุ้น GULF บนราคาเป้าหมายเดิมที่ 56.5 บาท ภายใต้วิธี SOTP โดยยังไม่รวม Upside จากการทำ M&A กับ GUNKUL รวม 230 Equity MW และ BSWPH รวม 218 Equity MW
ขณะที่ บล.กสิกรไทย มองเชิงบวกต่อหุ้น GULF จากโครงสร้างธุรกิจที่มีความมั่นคงและป้องกันความเสี่ยงได้ดี โดยประเมินว่าแทบไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐไม่ว่าผลการเจรจาจะออกมาอย่างไร เนื่องจาก 92% ของรายได้มาจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับ กฟผ. โดย 80% จากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 3% จากพลังงานหมุนเวียน และ 9% จากธุรกิจ LNG
ความเสี่ยงด้านกฎระเบียบ (regulatory risk) อยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับผู้ผลิตไฟฟ้ารายอื่น เพราะมีเพียง 6% ของรายได้เท่านั้นที่มาจากโรงไฟฟ้า SPP ซึ่งขายไฟให้ภาคอุตสาหกรรม
GULF ตั้งเป้าการเติบโตของรายได้ปี 68 ที่ 25% ปัจจัยสนับสนุนหลัก 4 ด้าน คือ รับรู้รายได้เต็มปีจากโรงไฟฟ้าใหม่หน่วยที่ 3 และ 4 ของโครงการ GPD, โรงไฟฟ้า HKP โรงไฟฟ้าใหม่ที่จะทยอยเปิดดำเนินการในปี 68 หน่วยที่ 2 ของ HKP (770MW เริ่ม ม.ค.68) โครงการโซลาร์เพิ่มเติมราว 707MW (รวมโซลาร์ฟาร์ม, โซลาร์+BESS และโซลาร์รูฟท็อป) คาด COD ภายในสิ้นปี
นอกจากนี้ รายได้จากเงินลงทุนใน ADVANC คาดรับรู้กำไรประมาณ 1.0-1.2 หมื่นล้านบาทในปี 68 และจะเพิ่มเป็น 1.5-1.8 หมื่นล้านบาทต่อปีตั้งแต่ปี 69 เป็นต้นไป และสถานะเครดิตของ GULF ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้อันดับเครดิตเพิ่มขึ้นจาก A+ เป็น AA- ด้วยภายหลัง amalgamation