
นายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. บลูบิค กรุ๊ป [BBIK] เปิดเผยว่า บริษัทผ่านคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ในการย้ายจากตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เข้าซื้อขายในตลาด SET กลุ่มเทคโนโลยี (TECH) หมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสาร (ICT) ในวันนี้ โดยตั้งเป้ารายได้เติบโต double-digit ต่อเนื่องในช่วงปี 68-70 เล็งลุยต่อเข้า SET100 ภายใน 3 ปี
"การเข้าจดทะเบียนใน SET แสดงถึงความมุ่งมั่นของบลูบิคในการขับเคลื่อนการเติบโตให้ก้าวไกลยิ่งขึ้นในระดับภูมิภาค เราพร้อมเดินหน้าขยายธุรกิจ เสริมศักยภาพด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม และสร้างสรรค์บริการใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในโลกธุรกิจยุคใหม่ ทั้งหมดนี้เพื่อเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างการเติบโตที่มั่นคง และผลตอบแทนที่ยั่งยืน ตลอดจนสร้างคุณค่าในระยะยาวให้แก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม" นายพชร กล่าวการย้ายเข้า SET เป็นไปตามแผนที่บริษัทวางไว้ และเป็นปัจจัยสนับสนุนารขยายตัวในอนาคตของ BBIK ซึ่งจะสะท้อนขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ถือหุ้น นักลงทุนสถาบัน นักลงทุนรายย่อย และกองทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศที่แต่เดิมอาจจะมีข้อจำกัดในการลงทุนตลาด mai

นายพชร กล่าวว่า หลังเข้า SET แล้วกำไรของบริษัทจะต้องโตให้ได้เท่าตัวเพื่อเป็นข้อพิสูจน์ valuation ของ BBIK ที่ตอนนี้ยังไม่ได้สะท้อนได้ดีเท่ากับความเป็นจริง จึงต้องสื่อสารในส่วนนี้ให้ชัดเจนเพื่อจะได้ไปถึงดัชนี SET100 ตามเป้าหมาย
นอกจากนั้น BBIK ยังมีแผนผลักดันบริษัทย่อยที่มีศักยภาพเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในช่วงเวลาเหมาะสม โดยเฉพาะ บริษัท บลูบิค วัลแคน จำกัด ที่มีขนาดองค์กรใหญ่พอที่จะเติบโตด้วยตัวเองได้ และ บริษัท อินโนวิซ โซลูชั่นส์ จำกัด ผู้ให้บริการจัดการซอฟต์แวร์ระบบการวางแผนทรัพยากรองค์กร (ERP) ซึ่งจำเป็นต่อทุกองค์กรในอนาคต
บริษัทยังมีกลยุทธ์และแผนดำเนินธุรกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาวสอดรับกับทิศทางเศรษฐกิจ ตลอดจนเพิ่มศักยภาพการให้บริการที่ตอบโจทย์เทรนด์ธุรกิจยุคใหม่เพื่อบรรลุเป้าหมายการเติบโตอย่างมั่นคง โดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น และลดต้นทุนบุคลากร ซึ่งปัจจุบัน BBIK มีพนักงานมากกว่า 1 พันราย ก่อนหน้านั้นบริษัทได้ลดจำนวนพนักงานออกไปบางส่วนตามแผนเพิ่ม utilization rate ของพนักงาน รวมทั้งอัปสกิล (Upskill) และรีสกิล (Reskill) ให้กับพนักงาน และยกระดับการทำงานระหว่างบริษัทแม่และบริษัทในเครืออย่างต่อเนื่อง
นายพชร กล่าวว่า การเติบโตของ BBIK มีแรงขับเคลื่อนหลักมาจากกระแสเมกะเทรนด์ความยั่งยืนและปัญญาประดิษฐิ์ (AI) ซึ่งบริษัทให้คำปรึกษาด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันและการประยุกต์ใช้ AI ระดับองค์กรได้ครบวงจร มีความรู้ know-how เฉพาะของท้องถิ่นที่เป็นที่ต้องการของภาครัฐและเอกชนไทย ในช่วง 3 ปีนี้ BBIK จึงจะเน้นตลาดภายในประเทศก่อน ถึงแม้เดิมจะมีแผนขยายสัดส่วนธุรกิจในต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากประมาณ 10% ที่ทำมาได้ตลอด 3 ปี
ขณะที่ความไม่แน่นอนของการค้าโลกอย่างนโยบายภาษีทรัมป์ จะทำให้การพึ่งพาเทคโนโลยีสำคัญจากประเทศมหาอำนาจมีความอ่อนไหวมากขึ้น จึงคาดว่าจะเกิดลงทุนด้านเทคโนโลยี เช่น ระบบคลาวด์หรือ AI ภายในประเทศเพิ่มขึ้นแทน โดย BBIK ก็จะเป็นหึ่งในผู้ที่ได้รับผลประโยชน์ ท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก
ส่วนภาคเอกชน บริษัทกำลังรวบรวมข้อเสนอใหม่ ๆ ให้แก่ธนาคารทั้งในรูปแบบเดิม และกลุ่มธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) ที่ผ่านมา BBIK ก็ได้มีการพูดคุยกับ 2 กลุ่มทุนใหญ่ที่ได้รับใบอนุญาต Virtual Bank แล้วถึงการวางระบบและส่วนงานอื่น ๆ จึงมีโอกาสที่ BBIK จะได้ร่วมงานกับทั้ง 3 กลุ่มทุน Virtual Bank หากงานที่ BBIK ทำให้แต่ล่ะเจ้าไม่ซ้ำกันและไม่เกิดข้อขัดแย้งทางผลประโยชน์
ด้านงานภาครัฐที่ก่อนหน้านี้มีสัดส่วนน้อยกว่า 10% ของรายได้ทั้งหมด จะกลายมาเป็นแหล่งรายได้สำคัญใหม่ของบริษัทฯ จากการขับเคลื่อนนโยบายการใช้คลาวด์เป็นหลัก (Cloud First Policy) ของรัฐบาล ซึ่งนายพชร มองว่า การที่แอปพลิเคชันต่าง ๆ ของภาครัฐพักหลังประสบปัญหาในการใช้งานจริงก็จะเป็นผลดีให้กับบริษัทที่มีความชำนาญอย่าง BBIK เข้าไปแก้ไข
บริษัทยังผลักดัน upsell และ cross-sell กับลูกค้าที่ได้ให้บริการ และเสริมการเติบโตด้วยกับการตั้ง JV เช่นที่ทำร่วมกับบริษัทสื่อ THE STANDARD รวมถึงมองหาโอกาสควบรวมและเข้าซื้อกิจการต่าง ๆ (M&A) เพื่อลดต้นทุนในท้ายที่สุด โดยคาดว่าภายใน 1-2 ปีนี้ จะได้เห็นบริษัทขนาดใหญ่ด้าน Digital Implementation เข้าร่วม BBIK
"ปี 68 ถือเป็นอีกปีที่เต็มไปด้วยความท้าทาย จากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและความขัดแย้งทั้งในและต่างประเทศ บริษัทจึงปรับใช้กลยุทธ์ธุรกิจให้สอดรับกับสถานการณ์ในระยะสั้น พร้อมวางรากฐานการเติบโตในระยะยาว เชื่อว่าการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันยังคงเป็นกระแสหลักของการทำธุรกิจยุคใหม่ โดยเฉพาะการประยุกต์ใช้ AI ในภาคธุรกิจ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น (First Wave) เมื่อสถานการณ์ต่าง ๆ คลี่คลายหรือมีทิศทางที่ชัดเจน การลงทุนด้านเทคโนโลยีจะกลับมาดำเนินการตามปกติ เพราะแผนการลงทุนด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมต้องทำอย่างต่อเนื่อง" นายพชร กล่าว