ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทยประจำสัปดาห์: มีมูลค่าการซื้อขายรวม 352,460 ลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 7, 2011 16:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (31 ตุลาคม — 4 พฤศจิกายน 2554) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้มีมูลค่ารวม 352,460 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 70,492 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้านี้ประมาณ 25% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภทของตราสารแล้วจะพบว่ากว่า 90% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 318,667 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (State Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ในขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 29,455 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 2,487 ล้านบาท หรือคิดเป็น 8% และ 1% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ

สำหรับพันธบัตรรัฐบาล รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือ รุ่น LB193A (อายุ 7.4 ปี), LB17OA (อายุ 5.9 ปี) และ LB145B (อายุ 4.4 ปี) มีมูลค่าการซื้อขายในแต่ละรุ่นเท่ากับ 9,293 ล้านบาท 5,514 ล้านบาท และ 2,406 ล้านบาทตามลำดับ ส่วนพันธบัตรที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย รุ่นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก คือรุ่น CB11N21A (อายุ 14 วัน), CB11N22A (อายุ 14 วัน) และ CB11N14A (อายุ 14 วัน) มูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 79,661 ล้านบาท 57,359 ล้านบาท และ 36,873 ล้านบาท ตามลำดับ

ทางด้านหุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกนั้น ได้แก่หุ้นกู้ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTTC153A (AAA (tha)) มูลค่าการซื้อขาย 419 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) (MBK163A (A)) มูลค่าการซื้อขาย 302 ล้านบาท และหุ้นกู้ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY123A (AA-)) มูลค่าการซื้อขาย 288 ล้านบาท

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Curve) ขยับตัวขึ้นลงอยู่ในกรอบแคบๆ หรือปรับตัวขึ้นลงอยู่ในช่วง -3 ถึง +3 Basis point (100 Basis point มีค่าเท่ากับ 1%) ทั้งนี้ภาพรวมของการซื้อขายตราสารหนี้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมายังถือว่าค่อนข้างเงียบต่อเนื่องมาจากสัปดาห์ก่อนหน้า โดยตลาดตราสารหนี้ยังคงไร้ซึ่งปัจจัยใหม่ๆเข้ามากระตุ้นตลาด นอกเหนือไปจากปัจจัยเรื่องน้ำท่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อตลาดตราสารหนี้ไทยอย่างชัดเจน และมีผลทำให้นักลงทุนต่างพากันชะลอการซื้อขายเพื่อรอดูสถานการณ์ต่อไป การเคลื่อนไหวของเส้นอัตราผลตอบแทน (Yield Curve) ในสัปดาห์ที่ผ่านมาจึงเป็นการเคลื่อนไหวตามอุปสงค์และอุปทานที่เข้ามาในตลาดเป็นหลัก นอกจากนี้แล้ว ในช่วงต้นสัปดาห์มีการประกาศตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคประจำเดือนตุลาคม ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.19% เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคมเมื่อปีที่ผ่านมา และถือเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ไม่สูงมากนัก เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ มีผลทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงค่อนข้างมาก และถึงแม้ว่าราคาสินค้าบางประเภทจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตามความขาดแคลน แต่ก็ไม่ได้มีผลทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นมากเท่าใด ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ตลาดคาดการณ์ว่า กนง. อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในการประชุมที่จะมีขึ้นในสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้

แต่อย่างไรก็ตาม ทางด้านนักลงทุนต่างชาติ มีมูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับในสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ส่วนใหญ่แล้วเป็นมูลค่าของการขายมากกว่า จึงทำให้ในสัปดาห์นี้นักลงทุนต่างชาติมีมูลค่าซื้อสุทธิเพียง 334 ล้านบาท ทั้งนี้มูลค่าการซื้อขายส่วนใหญ่ของนักลงทุนกลุ่มนี้ยังคงเน้นไปในตราสารระยะสั้น (มีอายุคงเหลือน้อยกว่า 1 ปี) เป็นหลัก และสำหรับนักลงทุนรายย่อย ที่ถึงแม้จะมีสัดส่วนของการซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดค่อนข้างน้อย แต่ในสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงมียอดซื้อสุทธิอย่างต่อเนื่องอีกประมาณ 1,726 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ