ทริสฯคงเครดิตองค์กร ASK ที่ระดับ "BBB+" แนวโน้ม "Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 29, 2012 13:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. เอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง (ASK) ที่ระดับ “BBB+" ด้วยแนวโน้ม “Stable" หรือ “คงที่" อันดับเครดิตสะท้อนถึงคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์ในธุรกิจสินเชื่อรถยนต์และความสามารถในการดำรงสถานะทางการตลาดแม้ว่าจะมีการแข่งขันที่รุนแรงและได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่สนับสนุนอันดับเครดิต อาทิ สถานะที่แข็งแกร่งในธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ในตลาดเฉพาะกลุ่มของรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ การสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ระบบการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ และความสัมพันธ์ที่ยาวนานกับตัวแทนจำหน่ายรถยนต์

อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งดังกล่าวถูกลดทอนลงบางส่วนจากลักษณะสินเชื่อของบริษัทที่มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจแม้ลักษณะของสินเชื่อประเภทนี้จะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าก็ตาม บริษัทได้กระจายแหล่งเงินทุนเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นทางการเงินหลังจากที่ถูกจำกัดโดยกฎระเบียบของรัฐบาลจากการกำหนดเพดานการกู้ยืมที่ผู้ถือหุ้น คือ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จะให้แก่บริษัท

ขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" ของบริษัทอยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถดำรงสถานะทางการตลาดในตลาดเฉพาะกลุ่มสำหรับยานพาหนะเพื่อการพาณิชย์ต่อไปได้ การมีคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์และความสามารถ ตลอดจนระบบการบริหารความเสี่ยงและระบบการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพจะช่วยให้บริษัทสามารถควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่ดี โดยคาดว่าผู้ถือหุ้นรายใหญ่น่าจะให้การสนับสนุนต่อไป นอกจากนี้ คาดว่าบริษัทจะปรับอายุของสินทรัพย์และหนี้สินให้มีความสอดคล้องกันมากขึ้นโดยการกระจายอายุของเงินกู้ยืม

ทริสเรทติ้งรายงานว่า ณ สิ้นปี 2554 ในจำนวนสินเชื่อรวมของบริษัทเอเซียเสริมกิจลีสซิ่งนั้น จำนวน 84.6% เป็นสินเชื่อรถยนต์สำหรับลูกค้ารายย่อยซึ่งดำเนินการโดยบริษัท ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2553 และ 2552 ที่ระดับ 85.2% และ 83.6% ตามลำดับ ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อลีสซิ่งและแฟคตอริ่งของบริษัทในเครือที่บริษัทถือหุ้นทั้งหมด คือ บริษัท กรุงเทพแกรนด์แปซิฟิคลีส จำกัด (มหาชน) อยู่ที่ระดับ 10.1% และ 4.9% ตามลำดับ สำหรับสินเชื่อรวมนั้น ผลจากการเติบโตของตลาดรถยนต์ภายในประเทศในปี 2553 ส่งผลให้สินเชื่อรวมปรับเพิ่มขึ้น 23.5% เป็น 15,153 ล้านบาทในปี 2553 จาก 12,267 ล้านบาทในปี 2552 ในปี 2554 ภัยพิบัติทางธรรมชาติ 2 เหตุการณ์ ได้แก่ แผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่นและอุทกภัยในประเทศไทย ได้กระทบต่ออุปทานของรถยนต์ในตลาด อย่างไรก็ตาม บริษัทก็ยังสามารถขยายฐานสินเชื่อเป็น 17,686 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2554 หรือคิดเป็นการเติบโต 16.7%

ความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของฐานลูกค้าโดยรวมของบริษัทเอเซียเสริมกิจลีสซิ่งอยู่ในระดับต่ำเนื่องมาจากลักษณะของสินเชื่อรถยนต์สำหรับลูกค้ารายย่อยซึ่งบริษัทมีสัดส่วนสินเชื่อในส่วนนี้มากที่สุด นอกจากนี้ การกระจายตัวของส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ในสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์สำหรับลูกค้ารายย่อยยังมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงจากการกระจุกตัวในด้านผลิตภัณฑ์ของสินเชื่อได้ด้วย โดย ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2554 สินเชื่อรถยนต์สำหรับลูกค้ารายย่อยคงค้างประกอบด้วยรถยนต์นั่งและรถกระบะจำนวน 34.1% รถตู้ 26.0% รถบรรทุก 29.3% รถแท็กซี่ 8.8% รถโดยสาร 0.5% และสินเชื่อสำหรับลูกค้าเก่า 1.3% โดยทั่วไปแล้ว แม้ว่าสินเชื่อสำหรับยานพาหนะเพื่อการพาณิชย์ เช่น รถบรรทุก รถตู้ และรถแท็กซี่จะสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่า แต่ส่วนผสมของสินเชื่อที่มีสินทรัพย์ประเภทดังกล่าวจะทำให้ผู้ประกอบการมีความเสี่ยงที่สูงกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่อื่น ๆ ที่เน้นการให้สินเชื่อสำหรับรถยนต์นั่งและรถกระบะ ดังนั้น เพื่อลดทอนความเสี่ยงที่สูงกว่า บริษัทจึงใช้กลยุทธ์ในการแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อเน้นสินเชื่อเฉพาะผลิตภัณฑ์และกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงน้อยเพื่อลดความเสี่ยงโดยรวม

แม้สินเชื่อของบริษัทเอเซียเสริมกิจลีสซิ่งจะดูเหมือนมีความเสี่ยงที่สูงกว่า แต่อัตราส่วนของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (ค้างชำระมากกว่า 3 งวด) ต่อสินเชื่อรวมยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับผู้ให้บริการรายอื่น การมีคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์และความสามารถ ตลอดจนระบบการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ และนโยบายการอนุมัติสินเชื่อแบบระมัดระวังจะเป็นปัจจัยที่ช่วยให้บริษัทสามารถดำรงคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับดีขึ้นจาก 1.42% ในปี 2552 เป็น 0.89% ในปี 2553 วิกฤตการณ์อุทกภัยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 ได้ส่งผลต่อคุณภาพสินเชื่อรถยนต์สำหรับลูกค้ารายย่อย โดยอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับเพิ่มจาก 0.43% ในปี 2553 เป็น 0.61% ในปี 2554 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้สำหรับสินเชื่อลีสซิ่งและแฟคตอริ่งของบริษัทกรุงเทพแกรนด์แปซิฟิคลีสได้ปรับดีขึ้นในปี 2554 ส่งผลให้บริษัทยังคงสามารถรักษาระดับอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รวม ณ สิ้นปี 2554 ที่ระดับ 0.88%

การแข่งขันที่ทวีความรุนแรงในอุตสาหกรรมสินเชื่อรถยนต์ยังมีผลกดดันต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทเอเซียเสริมกิจลีสซิ่งและผู้ประกอบการรายอื่น โดยเฉพาะในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นในปี 2553 และ 2554 ผลตอบแทนด้านอัตราดอกเบี้ยรับได้รับการกดดันจากสภาวะการแข่งขัน ขณะที่ต้นทุนทางการเงินปรับเพิ่มขึ้นตามสภาวะอัตราดอกเบี้ยตลาดที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทสามารถรักษาระดับต้นทุนทางการเงินจากการใช้เงินทุนเพื่อขยายสินเชื่อจากการกู้ยืมระยะสั้นขึ้น ค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่ยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมและภาระการตั้งสำรองสินเชื่อลดลงในปี 2554 ส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรปรับเพิ่มขึ้น อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ยของบริษัทปรับตัวขึ้นมากเป็น 2.07% ในปี 2553 จากระดับ 1.58% ในปี 2552 อัตราส่วนดังกล่าวปรับลดลงเล็กน้อยมาที่ระดับ 1.97% ในปี 2554 อัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ยก็ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยปรับเพิ่มขึ้นจาก 11.00% ในปี 2552 เป็น 15.48% ในปี 2553 และ 16.58% ในปี 2554

ด้านของแหล่งเงินทุน บริษัทเอเซียเสริมกิจลีสซิ่งได้รับประโยชน์จากการมีสถานะเป็นบริษัทในเครือของธนาคารกรุงเทพ อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ดังกล่าวถูกจำกัดโดยกฎเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการให้กู้ยืมแก่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกันของสถาบันการเงิน โดยกฎเกณฑ์ดังกล่าวจำกัดจำนวนเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ที่ให้แก่บริษัทที่เกี่ยวข้องของธนาคาร โดยเงินให้สินเชื่อแก่บริษัทที่เกี่ยวข้องถูกจำกัดไว้ไม่เกิน 5% ของเงินกองทุนของธนาคาร หรือ 25% ของหนี้สินรวมของผู้กู้ ขึ้นอยู่กับว่าจำนวนใดน้อยกว่ากัน กฎเกณฑ์ใหม่จำกัดความยืดหยุ่นทางเงินของบริษัทและความสามารถในการได้รับประโยชน์จากแหล่งเงินทุนที่มีความมั่นคงจากธนาคารกรุงเทพ บริษัทได้กระจายแหล่งเงินทุนไปยังสถาบันการเงินอื่นและตลาดทุนซึ่งรวมถึงการออกตั๋วแลกเงินและหุ้นกู้ โดยเก็บวงเงินคงเหลือจากธนาคารกรุงเทพไว้เป็นแหล่งเงินทุนสำรองเพื่อลดความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2554 บริษัทระดมทุนผ่านตั๋วแลกเงินคิดเป็น 27.08% ของเงินกู้ยืมรวม เพิ่มขึ้นจาก 22.50% และ 11.49% ในปี 2553 และ 2552 ตามลำดับ การระดมเงินผ่านตั๋วเงินช่วยให้บริษัทสามารถควบคุมต้นทุนทางการเงินไว้ได้ อย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้ว การระดมทุนผ่านตั๋วแลกเงินจะก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านการกู้ยืมใหม่เพื่อชำระหนี้เก่า (Refinancing risk) เนื่องจากตั๋วเงินจัดเป็นตราสารทางการเงินที่มีความอ่อนไหวต่อสภาวะตลาด อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงดังกล่าวของบริษัทได้รับการลดทอนจากการมีกระแสเงินสดจากการชำระค่างวดของลูกค้าและการมีวงเงินสำรองที่เพียงพอต่อความต้องการเงินทุนของบริษัทอย่างครบถ้วน

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทมีการใช้เงินกู้ยืมที่มีระยะสั้นขึ้นเพื่อควบคุมต้นทุนทางการเงินซึ่งส่งผลให้เกิดความไม่สอดคล้องกันของอายุสินทรัพย์และหนี้สินของบริษัท ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2554 หนี้สินจำนวน 44.39% ของเงินกู้ยืมทั้งหมดจะครบกำหนดในปี 2556 ซึ่งคาดว่าบริษัทจะชำระคืนโดยการกู้ยืมใหม่ด้วยเงินกู้ระยะยาว เงินทุนที่ใช้ในการขยายสินเชื่ออย่างมีนัยสำคัญในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามาจากการกู้ยืมโดยส่วนใหญ่ ส่งผลให้อัตราส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมลดลงเป็น 11.23% ในปี 2554 จาก 12.68% ในปี 2553 และ 14.29% ในปี 2552 บริษัทได้ประกาศแผนการปรับโครงสร้างทุนโดยการออกหุ้นใหม่ กระบวนการในการเพิ่มทุนคาดว่าจะแล้วเสร็จในกลางปีนี้ฐานทุนที่แข็งแกร่งขึ้นจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของบริษัทในการก่อหนี้เพิ่มเพื่อขยายฐานสินเชื่อ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ