ทริสฯ คงเครดิตองค์กร TMB ที่ A+,หุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ BBB+ แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday June 27, 2012 16:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ ธนาคารทหารไทย (TMB) ที่ระดับ “A+" และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิไม่มีประกันและหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนซึ่งนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของธนาคารที่ระดับ “A" และ “BBB+" ตามลำดับ โดยแนวโน้มยังคง “Stable" หรือ “คงที่"

อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงความสามารถของคณะผู้บริหารและการได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของธนาคารคือ ING Bank N.V. (ING Bank) อันดับเครดิตยังสะท้อนสภาพคล่องในระดับสูงและปริมาณเงินกองทุนจำนวนมากของธนาคารด้วย

อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนโดยปริมาณสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่อยู่ในระดับสูง ตลอดจนความสามารถในการทำกำไรที่ค่อนข้างอ่อนแอ การแข่งขันที่ทวีความรุนแรงในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ รวมถึงความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองภายในประเทศและภาวะการเงินโลก ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าวอาจจำกัดโอกาสในการเติบโตทางธุรกิจและความสามารถในการทำกำไรของธนาคาร

ขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนความคาดหมายว่าธนาคารจะสามารถปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์ ตลอดจนฐานะการเงิน และประสิทธิภาพในการดำเนินงานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป การได้รับการสนับสนุนจาก ING Bank คาดว่าจะช่วยให้ธนาคารมีระบบบริหารความเสี่ยงที่ดีขึ้น อีกทั้งจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางธุรกิจและขีดความสามารถในการแข่งขัน ตลอดจนช่วยสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่ธนาคารได้ในระยะกลาง นอกจากนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตยังอยู่บนพื้นฐานการคาดการณ์ว่าการลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากจาก 50 ล้านบาทเหลือเพียง 1 ล้านบาทในเดือนสิงหาคม 2555 นี้จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบอย่างรุนแรงต่อระบบธนาคารในทันที

สำหรับอันดับเครดิต “BBB+" ของหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนซึ่งนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ของธนาคารจำนวน 4,000 ล้านบาท (TMB09PA) นั้นสะท้อนถึงความด้อยสิทธิและความเสี่ยงในการเลื่อนชำระดอกเบี้ยของหุ้นกู้ดังกล่าว โดยหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนเป็นหุ้นกู้ที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาชำระคืน ไม่สะสมผลตอบแทน มีลักษณะด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน และธนาคารสามารถไถ่ถอนคืนได้หลังจาก 5 ปีนับจากวันที่ออกตราสาร และไถ่ถอนได้ทุก ๆ 6 เดือนหลังจากนั้น ผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิประเภทนี้จะได้รับการชำระเงินในลำดับถัดจากผู้ฝากเงิน ผู้ถือหุ้นกู้ไม่มีประกัน และผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิของธนาคาร โดยธนาคารจะไม่มีภาระผูกพันในการจ่ายดอกเบี้ยในกรณีที่ธนาคารมีผลขาดทุนในรอบบัญชีก่อนวันกำหนดชำระดอกเบี้ย ทั้งนี้ การไม่จ่ายดอกเบี้ยดังกล่าวไม่ถือเป็นการผิดนัดชำระหนี้ของธนาคาร

ทริสเรทติ้งรายงานว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ TMB ประกอบด้วยกลุ่ม ING Bank และกระทรวงการคลัง โดยมีสัดส่วนการถือหุ้น ณ เดือนมีนาคม 2555 เท่ากับ 30.1% และ 26.1% ของหุ้นทั้งหมดตามลำดับ ING Bank ในฐานะหุ้นส่วนเชิงกลยุทธ์ของธนาคารเข้ามามีบทบาทในการบริหารงานและช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่สถานะการเงินและธุรกิจของธนาคาร โดยธนาคารได้นำความรู้ในการบริหารความเสี่ยงรวมถึงจุดแข็งด้านการให้บริการแก่ลูกค้ารายย่อยของ ING Bank มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ปัจจัยดังกล่าวนับเป็นสิ่งสำคัญที่จะผลักดันให้ธนาคารเติบโตในอนาคต

นอกจากนี้ ธนาคารยังได้ดำเนินโครงการ Transformation Program มาตั้งแต่ปี 2551 เพื่อปรับเปลี่ยนให้ธนาคารเป็นองค์กรที่ยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลางและมุ่งเน้นการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพสูงเพื่อความสำเร็จในอนาคต อย่างไรก็ตาม คณะผู้บริหารยังคงเผชิญกับความท้าทายในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ตลอดจนการขยายฐานสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดกำไร การพัฒนาคุณภาพสินทรัพย์ และการรักษาฐานเงินทุนให้มีความมั่นคงท่ามกลางสภาพแวดล้อมการดำเนินธุรกิจในอนาคตที่ยังไม่มีความแน่นอน

ทริสเรทติ้งกล่าวว่า ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2555 TMB เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดของสินทรัพย์รวมใหญ่เป็นอันดับ 7 โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดของเงินให้สินเชื่อ 4.9% และเงินรับฝาก 5.9% ธนาคารมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 713.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.7% จาก 638.6 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2554 ธนาคารมีฐานะทางการเงินดีขึ้น โดยในปี 2554 มีกำไรสุทธิ 4,009 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.2% จาก 3,202 ล้านบาทในปี 2553 อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ย (ROAA) และผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ย (ROAE) สำหรับปี 2554 เท่ากับ 0.61% และ 7.85% ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจาก 0.57% และ 6.63% ในปี 2553 จากผลของการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียมเป็นส่วนใหญ่

อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสแรกของปี 2555 ธนาคารมีผลประกอบการลดลงเล็กน้อยเนื่องจากมีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น โดยธนาคารมีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 1,031 ล้านบาท ลดลง 5.9% จากงวดเดียวกันของปีก่อนโดย ROAA และ ROAE ที่ยังไม่ได้ปรับเต็มปีเท่ากับ 0.14% และ 1.95% ตามลำดับ ลดลงจาก 0.18% และ 2.20% สำหรับช่วงเดียวกันของปีก่อน และแม้ว่าฐานะทางการเงินของธนาคารจะดีขึ้นในช่วงปี 2551-2554 แต่ความสามารถในการรักษาเสถียรภาพทางการเงินยังคงต้องรอการพิสูจน์ต่อไป

TMB ได้ดำเนินการปรับปรุงคุณภาพสินทรัพย์ตามแผนกลยุทธ์ทั้งโดยวิธีการปรับโครงสร้างหนี้ การจำหน่ายสินเชื่อด้อยคุณภาพ และการตัดจำหน่ายหนี้เสียออกจากบัญชี ส่งผลให้ NPL ลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 36.0 พันล้านบาทในปี 2553 เป็น 29.8 พันล้านบาทในปี 2554 อัตราส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมลดลงจาก 9.91% ในปี 2553 เป็น 7.49% ในปี 2554 ในขณะที่อัตราส่วนสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPA) (สินเชื่อจัดชั้นค้างชำระเกิน 3 เดือน สินเชื่อที่ปรับโครงสร้างหนี้ และทรัพย์สินรอการขาย) ต่อสินทรัพย์รวมในปี 2554 เท่ากับ 5.07% ลดลงจาก 7.84% ในปี 2553

อย่างไรก็ตาม ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2555 NPL เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 30.5 พันล้านบาท (คิดเป็น 7.59% ของสินเชื่อรวม) โดยอัตราส่วน NPL ของธนาคารยังคงอยู่ในระดับสูงที่สุดในบรรดาธนาคารพาณิชย์ไทยทั้ง 11 แห่ง (ไม่รวมธนาคาร 4 แห่งที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) และสูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 3.59% ฉะนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องติดตามความสามารถในการควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารอย่างใกล้ชิดต่อไป

ทางด้านแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องนั้น TMB สามารถปรับโครงสร้างเงินทุนให้มีการกระจายตัวดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำกว่าและมีเสถียรภาพมากขึ้น โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2555 ธนาคารมีเงินรับฝากประเภทบัญชีกระแสรายวันและออมทรัพย์คิดเป็น 59% ของเงินรับฝากรวมตั๋วแลกเงินซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 43% ในปี 2553 นอกจากนี้ ธนาคารยังดำรงสภาพคล่องให้อยู่ในระดับสูง โดยมีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากรวมตั๋วแลกเงิน ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2555 เท่ากับ 83.3% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ระดับ 95.5%

TMB มีฐานเงินทุนและสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่มากพอเพื่อใช้รองรับความสูญเสียที่มิอาจคาดการณ์ได้จากความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของภาวะแวดล้อมในการดำเนินงาน ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2555 ธนาคารมี NPA คิดเป็น 0.40 เท่าของเงินกองทุนรวมสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ โดยลดลงจาก 0.53 เท่าในปี 2553 และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ระดับ 0.50 เท่า

นอกจากนี้ ธนาคารยังมีฐานเงินทุนที่เพียงพอสำหรับใช้ขยายธุรกิจในระยะกลาง โดย ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2555 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Tier-1 Ratio) และอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) เท่ากับ 11.19% และ 16.24% ตามลำดับ ลดลงเล็กน้อยจาก 11.33% และ 16.59% ณ สิ้นปี 2553 อันเป็นผลจากปริมาณสินทรัพย์เสี่ยงที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเงินให้สินเชื่อ อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนดังกล่าวของธนาคารยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ระดับ 10.39% และ 14.89% ตามลำดับ และสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ระดับ 4.25% และ 8.50% ตามลำดับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ