KCE ระบุเงินชดเชยน้ำท่วม-ขึ้นราคาขายหนุนกำไรปีนี้โต แม้รายได้ใกล้เคียง

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 9, 2012 12:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปัญจะ เสนาดิสัย กรรมการ บมจ.เคซีอี อีเลคโทรนิคส์(KCE) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า กำไรของบริษัทในปีนี้จะสูงกว่าปีก่อน แม้ว่ายอดขายอาจจะใกล้เคียงกัน แต่บริษัทจะมีการรับรู้เงินชดเชยค่าประกันน้ำท่วมโรงงาน รวมทั้งมีแผนจะปรับขึ้นราคาขายและเร่งผลผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับออร์เดอร์ที่เข้ามามาก ขณะที่วิกฤติยุโรปยังไม่มีผลกระทบต่อบริษัท

ในปีนี้บริษัทตั้งเป้ายอดขายที่ 240-250 ล้านดอลลาร์สหรัฐใกล้เคียงกับปีก่อน ขณะนี้มีออร์เดอร์ไปถึงสิ้นเดือน ส.ค.แล้ว เพราะลูกค้าได้เข้ามาตรวจสอบโรงงานและผ่านการทดสอบเกือบหมดแล้ว โดยได้สั่งออร์เดอร์เข้ามาเต็มที่ ประกอบกับมีการเพิ่มกำลังการผลิตของโรงงานเคซีอี เทคโนโลยี(KCET)เพื่อรองรับออร์เดอร์ที่เข้ามา ซึ่งขณะนี้วิกฤตยุโรปยังไม่กระทบต่อบริษัทเพราะตลาดของบริษัทมีทั้งสหรัฐ ญี่ปุ่น ยุโรป และเกาหลี กระจายกันไป แต่ก็คงต้องจับตาดูต่อไป

ทั้งนี้ สัดส่วนลูกค้าหลักจะเป็นชิ้นส่วนรถยนต์ 60% ถือว่ามากที่สุดและอัตราการทำกำไร(มาร์จิ้น)ดี รองลงมาเป็นด้านเน็ตเวิร์ก อิเล็กทรอนิกส์ ส่วนด้านฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ(HDD)ขณะนี้ลดสัดส่วนลงมา เพราะมาร์จินไม่ค่อยดีนัก

สำหรับแนวโน้มยอดขายในไตรมาส 2/55 คาดว่าจะสูงกว่าไตรมาส 1/55 ที่ 43.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังโรง KCET กลับมาเดินเครื่อง 60-70% และยังเป็นกำไรได้เพราะมีเงินชดเชยจากธุรกิจหยุดชะงักอีกส่วนหนึ่งที่ยังไม่ได้บันทึกเข้ามา แต่ยอดขายจะปรับตัวขึ้นสูงสุดในช่วงไตรมาส 3-4 จากออร์เดอร์ที่มีในมือและกำลังการผลิตกลับมาปกติ

ส่วนคาดการณ์กำไรสุทธิดีขึ้นจากปีก่อน ส่วนหนึ่งมาจากเงินชดเชยประกันเหตุน้ำท่วมโรงงานที่เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 54 ที่จะบันทึกเข้าทั้งหมดภายในปีนี้ พร้อมกันนั้น บริษัทได้เริ่มทยอยปรับราคาขายขึ้นราว 5-10% ซึ่งจะมีผลในไตรมาส 3-4/55 และการใช้กำลังการผลิตรวมช่วงครึ่งปีหลังน่าจะเพิ่มขึ้นมาที่มากกว่า 80% จากช่วงไตรมาส 2/55 อยู่ที่ 60-70 แบ่งเป็นโรงงาน KCET 9 แสน-1 ล้าน ตร.ฟ./เดือน โรง KCEI(สมุทรปราการ)5 แสน ตร.ฟ./เดือน และโรง KCE(ลาดกระบัง) 8 แสน ตร.ฟ./เดือน

"ปีนี้เราไม่ห่วงภาพรวมอุตฯ เพราะ growth เยอะมาก แต่ที่ห่วงคือเราจะผลิตของให้ลูกค้าไม่ทัน แต่ครึ่งปีหลังนี้เราก็เร่งเดินเครื่องมากขึ้นแล้ว แต่ทั้งปีขอ conservative ยอดขายที่ 240-250 ล้านดอลลาร์สหรัฐใกล้เคียงปีก่อน"นายปัญจะ กล่าว

นายปัญจะ ยังกล่าวอีกว่า ในปีนี้บริษัทได้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของโรงงานในเครือ โดยเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักรใหม่มากขึ้น เพื่อลดการใช้แรงงานหลังต้นทุนค่าแรงปรับขึ้น ที่ผ่านมาได้ปรับลดพนักงานไปบ้างและหันมาใช้เครื่องจักรแทน โดยหลังน้ำท่วมบริษัทก็ได้ซื้อเครื่องจักรใหม่ และปรับปรุงเครื่องจักรเดิม ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนโรงงานลดต่ำลง และมีการนำระบบออโตเมชั่นเข้ามาช่วยด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ