เวียดเจ็ท-กานต์แอร์ร่วมตั้งโลว์คอสต์แอร์ไลน์"ไทยเวียดเจ็ทแอร์"เปิดต้นปี 57

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday June 26, 2013 16:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

เวียดเจ็ทแอร์ (Vietjetair) ร่วมกับสายการบินกานต์แอร์ ลงนามข้อตกลงความร่วมมือทางธุรกิจสายการบินต้นทุนต่ำ(Low Cost Airline) ภายใต้ชื่อ"สายการบินไทยเวียดเจ็ทแอร์" โดยฝายไทยถือหุ้น 51% และเวียดเจ็ทแอร์ถือ 49% คาดว่าจะสามารถทำการบินได้ในต้นปี 57 ด้วยเครื่องบินแอร์บัส A320 รุ่นใหม่ 3 ลำ

ร้อยเอกสมพงศ์ สุขสงวน ประธานบริษัท สายการบินกานต์แอร์ ภายใต้การบริหารงานของ บริษัท กานต์นิธิ เอวิเอชั่น จำกัด เปิดเผยว่า จากการเซ็นสัญญาร่วมทุนระหว่างสายการบินกานต์แอร์และเวียดเจ็ทแอร์ ในครั้งนี้ สายการบินกานต์แอร์ได้ถือหุ้นในสัดส่วน 51% และ Vietjet Air ถือหุ้นในสัดส่วน 49% โดยจะทยอยเปิดเส้นทางการบินเชิงพาณิชย์ปลายปีนี้หรือต้นปี 57 โดยจะใช้ฐานการบินที่สนามบินสุวรรณภูมิ เริ่มเปิดเส้นทางแรกบินจากกรงุเทพฯ-เชียงใหม่ ส่วนเส้นทางกรุงเทพฯ-ภูเก็ต และกรุงเทพฯ-หาดใหญ่ จะเปิดทยอยให้บริการตามลำดับ รวมทั้งเส้นทางบินระหว่างประเทศ กรุงเทพฯ-จีน และกรุงเทพฯ-พม่า

ทั้งนี้ มองว่าการเข้ามาให้บริการในเชิงพาณิชย์ครั้งนี้จะสามารถแข่งขันกับสายการบินต้นทุนต่ำในประเทศได้ โดยจะเน้นด้านการบริการบนเครื่องบินและราคาตั๋วเครื่องบินที่ถูกกว่า อีกทั้งมองว่าอีก 2 ปีจะมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) จะเป็นโอกาสในการแข่งขัน

"ถ้าเราบริการดีราคาชาวบ้านทั่วไป จะทำให้เราสามารถมีความได้เปรียบคู่แข่ง สร้างความแตกต่างจากสายการบิน Low Cost มีการออกโปรโมชั่นที่ดึงดูดลูกค้า ซึ่งมีราคาค่าตั๋วที่ลูกค้าพึงพอใจมากที่สุด"ร้อยเอกสมพงศ์ กล่าว

ด้าน Mr.Luu Duc Khanh กรรมการผู้จัดการ สายการบินเวียดเจ็ท แอร์ กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมส่งเสริมการขายทางสายการบินจะมีการออกโปรโมชั่นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ขึ้นความต้องการและความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวชาวไทยว่ามีความต้องการอย่างไร ส่วนราคาค่าตั๋วโดยสาร ทางสายการบินก็ยังให้ความสำคัญอยู่โดยมีราคาที่เหมาะสม

ทั้งนี้ สายการบินต้องการแข่งขันกับคู่แข่งในจุดที่สายการบินสามารถแข่งขันได้ โดยจะเน้นด้านความปลอดภัย การตรงต่อเวลา และควบคุมต้นทุนให้ต่ำเพื่อราคาตั๋วจะไม่สูงมาก โดยกลุ่มลูกค้าที่สายการบินเน้นเป็นลูกค้าที่อยู่ในวัยรุ่นและกลุ่มลูกค้าที่ชอบการเดินทาง อย่างไรก็ตามการร่วมทุนกับประเทศไทยถือว่าเป็นครั้งแรกที่สายการบินได้ร่วมทุนกัน และทางสายการบินก็มีแผนเข้าไปร่วมทุนกับทางพม่าในอนาคต

"เราจะใช้ Vietjetair เป็น HUB เพื่อขนส่งผู้โดยสารจากเวียดนามมาไทยและจากไทยไปจีนรวมไปถึงจากไทยไปพม่าด้วย ขณะเดียวกันก็จะรับคนจากไทยไปเที่ยวเวียดนาม การแข่งขันก็มีทุกตลาดอยู่แล้ว เราก้ต้องสู้กับทุกๆที่ซึ่งเราจะโฟกัสในสิ่งที่เราสามารถสู้กับเขาได้"กรรมการผู้จัดการ สายการบินเวียดเจ็ท แอร์ กล่าว

การเลือกใช้ฐานการบินที่สนามบินสุวรรณภูมิ เนื่องจากมีผู้โดยสารต้องการมาลงที่สนามบินสุวรรณภูมิจำนวนมาก และเป็นจุดเชื่อมต่อที่จะบินไปยังประเทศอื่นๆได้ ขณะที่ดอนเมืองยังไม่มีความสะดวกเพียงพอสำหรับการต่อเครื่อง ส่วนเหตุผลที่เหลือทำตลาดในไทยเป็นหลัก เพราะเปิดกว้างมากกว่าในเวียดนาม

นายชัชชาติ ชาติสิทธิผล รมว.คมนาคม กล่าวว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีศักยภาพเหมาะสำหรับการเข้ามาลงทุนด้านการคมนาคมขนส่ง มองว่าเป็นการเปิดช่องทางการเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาคด้วยกันและในภูมิภาคอาเซียน คนไทยมีการใช้บริการสนามบินสุวรรณภูมิจำนวน 60 ล้านคน โดยมีการกระจายสายการบินให้เข้าไปใช้ฐานบินที่สนามบินดอนเมือง

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตเมื่อปรับปรุงสนามบินภูเก็ตแล้วเสร็จ โดยจะให้สายการบินย้ายไปลงที่สนามบินภูเก็ตด้วย เนื่องจากมองศักยภาพในการเติบโตของประเทศ และการเติบโตของสายการบินต้นทุนต่ำในอนาคตคาดว่าจะสูงถึง 51% จากอดีตเติบโตเพียง 5%

พร้อมกันนี้ เวียดเจ็ดแอร์ ได้เปิดเส้นทางการบินสู่กรุงเทพอย่างเป็นทางการ โดยปัจจุบันทำการบิน 2 เส้นทางคือ จากฮานอย และ โฮจิมินซิตี้ มายังกรุงเทพ (สนามบินสุวรรณภูมิ) รวม 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

เวียดเจ็ทแอร์วางแผนเพิ่มฝูงบินเป็น 10 ลำในปี 56 เพื่อรองรับเส้นทางการบินที่เพิ่มขึ้นภายในประเทศเวียดนามที่มากถึง 11 เส้นทาง และเส้นทางระหว่างประเทศ 2 เส้นทางที่มากรุงเทพ

ส่วนสายการบินกานต์แอร์ มีจำนวนฝูงบิน 2 ลำ ให้บริการเส้นทางในประเทศ 4 เส้นทาง(ไป-กลับ) โดยใช้ฐานปฏิบัติการบินเบื้องต้นอยู่ที่เชียงใหม่ ได้แก่ เชียงใหม่-ปาย , เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน, เชียงใหม่-น่าน, เชียงใหม่-พิษณุโลก รวมทั้งให้บริการจัดเที่ยวบินเช่าเหมาลำ และบริการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางอากาศ

และในอนาคตจะทำการบินในเส้นทางดอนเมือง, อู่ตะเภา, หัวหิน, ภูเก็ต, กระบี่ และหาดใหญ่ โดยใช้สนามบินเกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี เป็นฐานปฏิบัติการเริ่มต้น ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ประมาณปลายปี 57


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ