ทริส จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ 1 พันลบ.ของ OISHI ที่ระดับ "A-/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday July 31, 2013 09:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาทของ บมจ. โออิชิ กรุ๊ป (OISHI) ที่ระดับ “A-" พร้อมทั้งคงอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทที่ระดับ “A-" เช่นกัน โดยแนวโน้มยังคง “Stable" หรือ “คงที่"

ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ไปใช้สำหรับการขยายกำลังการผลิตและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน อันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำในตลาดเครื่องดื่มชาเขียวในประเทศไทย การมีตราสัญลักษณ์สินค้าซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างดี ตลอดจนศักยภาพที่แข็งแกร่ง และโอกาสในการเติบโตของบริษัท

การพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงการสนับสนุนที่บริษัทได้รับจากบริษัทแม่คือ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่กว้างขวางและมีโรงงานผลิตขนาดใหญ่ด้วย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวมีข้อจำกัดบางประการจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรง ตลอดจนการมีสินค้าทดแทนได้ง่าย อัตราการทำกำไรที่อ่อนตัวลง และแนวโน้มที่บริษัทจะลงทุนโดยใช้เงินทุนจากเงินกู้ในอนาคต

ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทโออิชิ กรุ๊ปจะยังคงสามารถรักษาสถานะผู้นำตลาดและเสริมสร้างความแข็งแกร่งของตราสินค้าเอาไว้ได้ต่อไป นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดหวังให้บริษัทเพิ่มอัตราการทำกำไรและความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ หากบริษัทยังคงก่อหนี้เชิงรุกในช่วงระยะเวลานาน ก็อาจจะมีผลกระทบในเชิงลบต่อคุณภาพอันดับเครดิตของบริษัทได้

OISHI ดำเนินธุรกิจหลัก 2 ประเภท คือ ธุรกิจเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์และธุรกิจอาหาร โดยใช้ตราสินค้าหลักคือ “โออิชิ" (Oishi) และเน้นเอกลักษณ์ความเป็นญี่ปุ่น สินค้าประเภทเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ของบริษัทครอบคลุมชาเขียวญี่ปุ่น เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ รวมทั้งกาแฟพร้อมดื่มด้วย สำหรับธุรกิจอาหารนั้น บริษัทดำเนินธุรกิจเครือข่ายภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นหลากหลายประเภท เช่น บุฟเฟ่ต์อาหารญี่ปุ่น สุกี้ชาบูพร้อมข้าวปั้นหน้าปลาดิบแบบญี่ปุ่น และบะหมี่ญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังจำหน่ายอาหารแช่แข็งและแช่เย็น สาหร่ายทอดกรอบสไตล์ญี่ปุ่น และประกอบธุรกิจบริการจัดส่งอาหารอีกด้วย

ปัจจุบัน บริษัทมีโรงงานผลิตเครื่องดื่มและครัวกลางทั้งหมด 4 แห่ง ในจังหวัดปทุมธานี ชลบุรี และสระบุรี โดยโรงงานในจังหวัดสระบุรีที่เพิ่งเปิดใหม่ในเดือนมีนาคม 2556 จะช่วยเสริมกำลังการผลิตเครื่องดื่มที่ใช้เทคโนโลยีการบรรจุเย็นแบบปลอดเชื้อ (Cold Aseptic Filling-CAF) สำหรับโรงงานแห่งใหม่ล่าสุดในจังหวัดชลบุรี กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างเพื่อใช้เป็นครัวกลาง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2556 นี้

ยอดขายของบริษัทเติบโตเพิ่มขึ้น 22.5% จากปี 2554 มาอยู่ที่ 11,634 ล้านบาทในปี 2555 และเติบโตเพิ่มขึ้นอีก 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2556 การเติบโตมาจากการขยายจำนวนสาขาร้านอาหาร การส่งเสริมการขาย และกิจกรรมทางการตลาด ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจเครื่องดื่มสร้างรายได้ประมาณ 54%-58% ของรายได้รวมของบริษัท ในขณะที่ธุรกิจอาหารสร้างรายได้ในส่วนที่เหลือ แต่สำหรับช่วง 3 เดือนแรกของปี 2556 ธุรกิจเครื่องดื่มสร้างรายได้ 48% ของยอดขาย ในขณะที่ธุรกิจอาหารสร้างรายได้ 52%

บริษัทเป็นผู้นำในตลาดเครื่องดื่มชาเขียวภายในประเทศภายใต้ตราสินค้าชาเขียว “โออิชิ" ซึ่งมีส่วนแบ่งในตลาดประมาณ 50% ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทลดลงเนื่องจากมีตราสินค้าของคู่แข่งเข้ามาแข่งขันในตลาดเพิ่มขึ้นพร้อมทั้งใช้การส่งเสริมการขายเชิงรุกอย่างมากอีกด้วย บริษัทตอบโต้ด้วยการนำเสนอสินค้าในบรรจุภัณฑ์แบบใหม่ ๆ และในขนาดขวดที่หลากหลาย ในขณะเดียวกันบริษัทก็ทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดแบบเชิงรุกมากยิ่งขึ้น สำหรับธุรกิจอาหารนั้น กลยุทธ์หลักของบริษัทคือเน้นการขยายจำนวนสาขาให้ครอบคลุมตลาดมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเพิ่มความหลากหลายของประเภทอาหาร ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2556 บริษัทมีเครือข่ายภัตตาคารรวม 165 สาขา

ณ เดือนเมษายน 2556 บริษัทไทยเบฟเวอเรจ ถือหุ้นในสัดส่วน 79.7% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัท บริษัทได้รับการสนับสนุนในหลาย ๆ ด้านจากบริษัทไทยเบฟเวอเรจ ซึ่งรวมถึงคณะผู้บริหารที่แต่งตั้งเข้ามาและการให้บริการกระจายสินค้า เมื่อรวมกับเครือข่ายของ บริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) แล้ว ถือว่าบริษัทไทยเบฟเวอเรจเป็นผู้จัดจำหน่ายที่ครอบคลุมตลาดกว้างขวางที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ เครือข่ายขนาดใหญ่ดังกล่าวสามารถช่วยขยายฐานลูกค้าของบริษัท และยังเกิดประโยชน์ในการผสานพลังกันในด้านการผลิตด้วย บริษัทไทยเบฟเวอเรจช่วยเสริมการผลิตในช่วงขาดแคลนสินค้าของบริษัท ตลอดจนยังสนับสนุนการผลิตสินค้าใหม่ ๆ ด้วยต้นทุนที่มีประสิทธิภาพ และการซื้อกิจการ Fraser and Neave Limited ของบริษัทไทยเบฟเวอเรจจะนำมาซึ่งโอกาสทางการเติบโตและการผสานพลังกันทางธุรกิจในระยะปานกลางถึงระยะยาว

ฐานะการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทเกิดจากยอดขายที่เติบโตและสภาพคล่องที่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายของบริษัทอ่อนตัวลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา อัตรากำไรอยู่ที่ระดับ 9%-10% ระหว่างปี 2555 ถึงช่วง 3 เดือนแรกของปี 2556 เปรียบเทียบกับ 13.6% ในปี 2554 เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการผลิตและค่าใช้จ่ายในการจัดการที่เพิ่มขึ้นอันเป็นผลจากมหาอุทกภัยในปี 2554 อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายทางการตลาดและการส่งเสริมการขายที่เพิ่มขึ้นด้วย ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารของบริษัท สำหรับช่วง 3 เดือนแรกของปี 2556 ก็เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 29% ของรายได้จากการขาย เปรียบเทียบกับ 22.4% ในปี 2554

ทั้งนี้ ด้วยความพยายามที่จะสร้างความแข็งแกร่งทางการแข่งขัน บริษัทได้ลงทุนเพิ่มในสายการผลิตเครื่องดื่มแบบเทคโนโลยีบรรจุเย็น โดยสายการผลิตแบบบรรจุเย็นนี้จะสามารถช่วยลดต้นทุนบรรจุภัณฑ์ลงได้ นอกจากนี้ ระบบการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีใหม่นี้จะเป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มประสิทธิภาพซึ่งเป็นคุณสมบัติเหมาะสมที่จะได้รับสิทธิประโยชน์จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนด้วย

ผลกระทบจากอัตราการทำกำไรที่อ่อนแอลง ทำให้เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทลดลงจาก 936 ล้านบาทในปี 2554 มาอยู่ที่ 819 ล้านบาทในปี 2555 และอยู่ที่ 285 ล้านบาทในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2556 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมในปี 2555 อยู่ที่ 45% ลดลงจาก 79% ในปี 2554 ถึงแม้ระดับสภาพคล่องของบริษัทยังคงแข็งแกร่ง แต่ด้วยภาระดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้นทำให้สภาพคล่องของบริษัทตึงตัวขึ้น โดยอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ที่ 27 เท่า ในปี 2555 และ 18 เท่า สำหรับช่วง 3 เดือนแรกของปี 2556 เปรียบเทียบกับ 77 เท่าในปี 2554

ระดับหนี้สินของบริษัทเพิ่มขึ้นจาก 1,181 ล้านบาท ในปี 2554 มาอยู่ที่ 1,836 ล้านบาทในปี 2555 และ 2,478 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2556 เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการขยายสาขาร้านอาหาร ก่อสร้างครัวกลางใหม่ และเป็นเงินลงทุนในสายการผลิตเครื่องดื่มสายใหม่ เป็นผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนเพิ่มขึ้นจาก 29% ในปี 2554 เป็น 37% ในปี 2555 และ 43.6% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2556 คาดว่าระดับภาระหนี้สินจะเพิ่มขึ้นในช่วงระยะปานกลาง เนื่องจากบริษัทมีแผนค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนประมาณ 2,500-2,700 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2556-2558 ทริสเรทติ้งคาดหวังให้บริษัทบริหารโครงสร้างเงินทุนให้คงอยู่ในระดับที่ดีไว้ได้ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ