ทริสฯ จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ใหม่ 1.4 พันลบ.TCAP ที่ระดับ "A+/Stable"

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday August 16, 2013 15:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ทริสเรทติ้ง จัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันในวงเงินไม่เกิน 1,400 ล้านบาทของ บมจ. ทุนธนชาต (TCAP) ที่ระดับ “A+" ในขณะเดียวกันยังคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันชุดปัจจุบันของบริษัทที่ระดับ “A+" ด้วย โดยแนวโน้มยังคง “Stable" หรือ “คงที่" ทั้งนี้ อันดับเครดิตสะท้อนสถานะการเป็นบริษัทโฮลดิ้งเพื่อลงทุนในกลุ่มธนชาต ตลอดจนอำนาจการบริหารงานและเงินปันผลที่ได้รับอย่างสม่ำเสมอผ่านการถือหุ้น 50.96% ในธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นธุรกิจหลักในกลุ่ม อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงคณะผู้บริหารที่มีประสบการณ์และความสามารถ รวมถึงระบบบริหารความเสี่ยงที่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น มูลค่าเครือข่ายธุรกิจ (Franchise Value) ที่เพิ่มขึ้น และการสนับสนุนจาก Bank of Nova Scotia (BNS) ซึ่งเป็นพันธมิตรทางธุรกิจจากประเทศแคนาดาโดยการถือหุ้นในธนาคารธนชาต 49% ผ่าน Scotia Netherlands Holdings BV.

อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนลงบางส่วนจากคุณภาพสินทรัพย์ที่ยังคงอ่อนแอ ตลอดจนความสามารถในการทำกำไรที่อยู่ในระดับต่ำ และปริมาณสำรองในการรองรับความเสียหายจากสินเชื่อที่มีอยู่ในจำนวนน้อย อันดับเครดิตยังได้รับแรงกดดันจากภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจธนาคาร ธุรกิจเช่าซื้อ และธุรกิจหลักทรัพย์ รวมถึงความไม่แน่นอนของภาวะการเงินโลก โดยปัจจัยเหล่านี้อาจจำกัดความสามารถในการทำกำไรและโอกาสในการขยายธุรกิจของกลุ่มได้ในอนาคต

แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable" หรือ “คงที่" สะท้อนความคาดหมายว่า ธนาคารธนชาตซึ่งเป็นแหล่งรายได้หลักของบริษัทจะสามารถผสานประโยชน์ทางธุรกิจกับ BNS เพื่อเสริมสร้างสถานะทางการแข่งขันในธุรกิจหลักให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น อีกทั้งการสนับสนุนทั้งในด้านการเงิน ตลอดจนความรู้และความเชี่ยวชาญจากพันธมิตรธุรกิจอันได้แก่ BNS และบริษัททุนธนชาตจะช่วยให้การดำเนินธุรกิจและผลประกอบการของธนาคารธนชาตดีขึ้นได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

อันดับเครดิตองค์กรของบริษัทอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรของธนาคารธนชาตอยู่ 1 ขั้น ซึ่งสะท้อนถึงการด้อยสิทธิทางโครงสร้าง โดยสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ในหนี้สินของบริษัทจะด้อยกว่าสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้ในหนี้สินของธนาคารธนชาต นอกจากนี้ ยังสะท้อนถึงการพึ่งพารายได้เงินปันผลและกฎเกณฑ์ของทางการที่อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถของธนาคารธนชาตในการจ่ายเงินปันผลให้แก่บริษัทด้วย

บริษัททุนธนชาตมีขนาดของสินทรัพย์รวมใหญ่เป็นอันดับ 6 ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งสิ้น 15 แห่ง ณ เดือนมีนาคม 2556 โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินเชื่อที่ 8.3% และเงินฝากที่ 7.2% รายได้จากการดำเนินงานสุทธิของบริษัทในปี 2555 เป็นรายได้ของธนาคารธนชาตและบริษัทย่อยคิดเป็น 92% ส่วนอีก 8% เป็นรายได้ของบริษัทและบริษัทย่อยซึ่งประกอบธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ 2 แห่ง ผลการดำเนินงานของบริษัทดีขึ้นเป็นลำดับภายหลังการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารธนชาตและธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน)

ธนาคารมีกำไรสุทธิในปี 2555 จำนวน 5.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% และมีกำไรสุทธิในไตรมาสที่ 1 ของปี 2556 จำนวน 2.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 57% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมและการควบคุมค่าใช้จ่ายดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทยังคงอ่อนแอกว่าเมื่อเทียบกับกลุ่มธนาคารอื่น โดยในปี 2555 อัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวมถัวเฉลี่ย (Return on Average Asset -- ROAA) ของบริษัทเท่ากับ 1.01% และอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นถัวเฉลี่ย (Return on Average Equity -- ROAE) เท่ากับ 12.12% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 1.41% และ 14.60% ตามลำดับ

บริษัทได้พัฒนาและปรับปรุงระบบการบริหารความเสี่ยงให้ดีขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล อย่างไรก็ตาม สถานะทางธุรกิจของบริษัทยังคงได้รับแรงกดดันจากสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สินเชื่อที่ค้างชำระเกินกว่า 3 เดือน ยอดคงค้างของสินเชื่อที่ปรับโครงสร้างหนี้ และสินทรัพย์รอการขาย) ที่อยู่ในระดับสูง บริษัทได้พยายามแก้ไขปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพที่ค้างมานานซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่รับโอนมาจากธนาคารนครหลวงไทย ทำให้สินเชื่อด้อยคุณภาพที่มีอยู่ 39.5 พันล้านบาทในปี 2553 ลดลงเหลือ 33.0 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2556 โดยมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมเท่ากับ 4.27% แต่ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ไทย 11 แห่ง (ไม่รวมธนาคาร 4 แห่งที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์) ที่ระดับ 2.97% ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถลดปริมาณสินเชื่อด้อยคุณภาพลงได้อีกเพื่อทำให้สถานะเครดิตของบริษัทดีขึ้น นอกจากนี้ ปริมาณเงินกองทุนและสำรองส่วนเกินน่าจะเพียงพอสำหรับผลขาดทุนที่มิได้คาดหมายจากความเสียหายของสินเชื่อได้ในระยะกลาง

ฐานเงินทุนของบริษัทยังคงเพียงพอสำหรับการเติบโตในระยะกลาง ในเดือนธันวาคม 2555 อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 (ของทั้งกลุ่มบริษัท) เท่ากับ 7.50% และอัตราส่วนเงินกองทุนรวมเท่ากับ 12.07% ลดลงจากอัตราส่วนในปี 2554 ที่ระดับ 8.48% และ 12.53% ตามลำดับ แต่ยังคงสูงกว่าระดับเงินกองทุนขั้นต่ำที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 4.25% และ 8.50% ตามลำดับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ