โบรกเกอร์แนะ"ซื้อ"KTB คาดกำไร Q3/56 ทำนิวไฮ-รับประโยชน์โครงการลงทุนรัฐ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday September 25, 2013 14:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โบรกเกอร์เห็นพ้องแนะ"ซื้อ"หุ้นธนาคารกรุงไทย(KTB)มองในไตรมาส 3/56 กลับมาเติบโตอีกครั้ง คาดกำไรสุทธิทำนิวไฮ 9.3-9.9 พันล้านบาท เป็นผลจากการตั้งสำรองพิเศษลดลงจากไตรมาส 2/56 และไตรมาสนี้มีรายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นและรับรู้เงินปันผลกองทุนวายุภักษ์ ขณะที่ยอดหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)ไม่น่าเป็นห่วง เพราะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับอุตสาหกรรมที่ 3%

ประกอบกับ ความเป็นธนาคารของรัฐ จะได้รับประโยชน์เต็มที่จากโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่ง KTB ก็มีลูกค้าในกลุ่มรับเหมามากพอสมควร ทำให้สินเชื่อของธนาคารมีโอกาสเติบโตสูง

อย่างไรก็ดี การยื่นคัดค้าน พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ขัดรัฐธรรมนูญ ทำให้โครงการโครงสร้างพื้นฐานอาจสะดุด ดังนั้น โบรกเกอร์บางแห่งจึงแนะนำให้รอดูผลก่อนจะตัดสินใจลงทุน

          โบรกเกอร์           คำแนะนำ          ราคาเป้าหมาย(บาท/หุ้น)

          บล.โกลเบล็ก           ซื้อ                32.80
          บล.เมย์แบงก์กิมเอ็งฯ     ซื้อ                30.00
          บล.ดีบีเอสฯ            ซื้อ                28.00
          บล.ซีไอเอ็มบี           ซื้อ                28.00
          บล.ฟิลลิป(ประเทศไทย)   ซื้อ                24.00
          บล.ทรีนิตี้              ซื้อ                24.00
          บล.เคจีไอ             ถือ                23.00
          บล.ฟินันเซียไซรัส       เก็งกำไร            22.00
          บล.ทิสโก้              ถือ                20.00

นายวรพล วิรุฬศรี นักวิเคราะห์ บล.เมย์แบงก์กิมเอ็ง (ประเทศไทย) กล่าวแนะนำ"ซื้อ" KTB เนื่องจากเป็นธนาคารรัฐที่จะได้รับประโยชน์จากจากการลงทุนของภาครัฐ โดยเฉพาะพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท และมีส่วนแบ่งลูกค้ากลุ่มรับเหมาก่อสร้างมากพอสมควร

ขณะเดียวกัน NPL ของ KTB ก็ปรับลดลงต่อเนื่อง ไม่ได้สร้างความกังวลมากมายนัก อย่างลูกหนี้รายของ บมจ.สหวิริยาสตีลอินดัสตรี(SSI)มีแนวโน้มดีขึ้นตามผลประกอบการที่ดีขึ้น และมีการปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้การตั้งสำรองลดลง โดยสิ้น มิ.ย.56 KTB มี NPL อยู่ที่ 2.9% ใกล้เคียงกับภาพรวมอุตสาหกรรม จากเดิมที่เคยสูงมากถึง 6-7%

และคาดว่ากำไรในไตรมาส 3/56 ที่ 9.5 พันล้านบาท เติบโต 48%QoQ และ 6%YoY โดยคาดสินเชื่อเติบโต 3.0%QoQ (+11.1%ytd) โดยเป็นการเติบโตในทุกกลุ่มธุรกิจทั้ง Corporate (มี Deal ใหญ่ปล่อยให้ CPALL), SMEs และรายย่อย คาด NIM ทรงตัวจากไตรมาส 2/56 ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมเติบโตต่อเนื่อง และมีเงินปันผลวายุภักษ์ระดับ 730 ล้านบาท ช่วยผลักดันรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย(Non-NII)ให้เติบโตโดดเด่น ค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองคาดกลับเข้าสู่ระดับปกติ หลังจากไตรมาส 2/56 มีการตั้งสำรองพิเศษ

นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า KTB เป็นแบงก์รัฐที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การเบิกงบประมาณรายจ่าย และสินเชื่อภาครัฐเติบโตล้อกันไปตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้น แนวโน้มการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น และพอร์ตสินเชื่อเติบโต โดยในช่วง 8 เดือนแรกมียอดสินเชื่อคงค้าง 1.6 ล้านล้านบาท เติบโต 9% จากปลายปี 55 ทำให้รายได้จากดอกเบี้ยยังเติบโตดี

ในไตรมาส 3/56 จะเป็นไตรมาสที่มีกำไรที่ดี โดยคาดกำไร 9.3 พันล้านบาท เติบโต 45%QoQ และมีความเป็นไปได้จะทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่การตั้งสำรองอยู่ในระดับปกติ 1.5-1.6 พันล้านบาท เทียบกับไตรมาส 2/56 ที่ตั้งสำรองสูงถึง 4 พันล้านบาททำให้กำไรหดตัว

ด้าน บล.ฟิลลิป(ประเทศไทย)คาดว่า กำไรสุทธิของ KTB ไตรมาส 3/56 จะทำสถิตสูงสุดใหม่ที่ 9.9 พันล้านบาท เพิ่มทั้ง QoQ และ YoY คาดไตรมาสนี้จะไม่มีผลขาดทุนจากเงินลงทุนสูงเหมือนในไตรมาสก่อน และในไตรมาสนี้จะได้รับเงินปันผลจากกองทุนวายุภักษ์อีกถึง 700 ล้านบาท

สาเหตุสำคัญที่ทำให้คาดว่าผลประกอบการของ KTB จะปรับตัวดีกว่าไตรมาสก่อนมาก คือการกลับมาตั้งสำรองปกติที่ประมาณ 1.6 พันล้านบาท จากไตรมาสก่อนตั้งสำรองสูงถึง 4.1 พันล้านบาท และเมื่อเทียบกับในไตรมาส 3/55 คาดว่ากำไรสุทธิไตรมาสนี้จะเพิ่มขึ้น 11% yoy เนื่องจากสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน และความสำเร็จในการเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียม

ขณะที่ บล.เคจีไอ(ประเทศไทย) แนะนำให้"ถือ"KTB แม้ก่อนหน้านี้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมา แต่ขณะนี้ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทยังดำเนินการไม่ได้ เพราะมีการยื่นคัดค้านว่าขัดรัฐธรรมนูญ จึงต้องรอผลการวินิจฉัยตรงนี้เสียก่อน ดังนั้น จึงยังไม่เห็นเม็ดเงินลงทุนจากภาครัฐ แต่หากปีหน้ามีการลงทุนก็จะมีการปรับเปลี่ยนมุมมองต่อ KTB ใหม่อีกครั้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ