KTB คาดปี 57 สาขาคุนหมิงโตกระโดดเป็น 10%หลังได้ไลเซ่นทำธุรกรรมเงินหยวน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday December 9, 2013 13:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางกิตติยา โตธนะเกษม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสายงานบริหารการเงิน ธนาคารกรุงไทย(KTB)เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงไทยสาขาคุนหมิงอยู่ระหว่างรอใบอนุญาต(ไลเซ่นส์)การทำธุรกรรมเงินหยวน คาดว่าจะได้รับไลเซ่นในปลายปีนี้ และจะเริ่มให้บริการธุรกรรมเงินหยวนได้ราวต้นปีหน้า น่าจะทำให้ธุรกิจของธนาคารที่คุนหมิงเติบโตได้มากกว่า 10% จากปัจจุบันที่เติบโตเฉลี่ยปีละ 5-7% ตามสำนักงานใหญ่
"เมืองคุนหมิง ประเทศจีนมีความต้องการการทำธุรกรรมเป็นเงินหยวนอย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารกรุงไทยสาขาคุนหมิงให้บริการทำธุรกรรมเป็นเงิน US ดอลลาร์ ซึ่งก็ได้รับการตอบรับด้วยดีเสมอ แต่หากเราสามารถเปิดให้บริการทำธุรกรรมเป็นเงินหยวนได้จะยิ่งทำให้เราเติบโตมากขึ้น เพราะจะทำ Swap ได้, ออก Bank Note ได้, ออก Derivative ได้"นางกิตติยา กล่าว

นางกิตติยา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ธนาคารยังมีเป้าหมายให้บริการผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น ธุรกรรมเงินบาท, E-money card ในอนาคตด้วย

ทั้งนี้ ธนาคารกรุงไทย สาขาคุนหมิง เปิดบริการมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1996 ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการให้บริการส่งเสริมการค้า การลงทุน ระหว่างประเทศจีนและประเทศในประชาคมอาเซียน (AEC) และเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนนโยบายประเทศจีนกำหนดให้มณฑลยูนนานเป็นประตูเชื่อมจีนตอนใต้กับเอเวียตะวันออกเฉียงใต้และเอเซียใต้ ตลอดจนสนับสนุนนโยบาบของเมืองคุนหมิงที่ต้องการพัฒนาให้เมืองคุนหมิงเป็นศูนย์กลางทางการเงินในระดับภูมิภาค โดยปัจจุบันให้บริการธุรกรรมสินเชื่อ ธุรกรรมการรับฝากเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD) ธุรกรรมเงินฝากสถาบันทางการเงิน (Interbank placement) บริการโอนเงินระหว่างประเทศ

นางกิตติยา กล่าวว่า ปัจจุบัน KTB มีสาขาในต่างประเทศ 7 สาขา คือ กัมพูชา 2 แห่ง ลาว สิงคโปร์ มุมไบ คุนหมิง ลอสแอนเจอลิส อย่างละ 1 แห่ง และมี 1 สำนักงานผู้แทนอยู่ที่ย่างกุ้ง ซึ่งทุกสาขาที่อยู่ในโซนเอซียทำกำไรได้ดี โดยเฉพาะสาขาคุนหมิง มีความแข็งแรงมาก

"เราเป็นแบงค์ต่างชาติรายเดียวที่เปิดบริการในเมืองคุนหมิงมานานกว่า 17 ปี จุดแข็งของเราคือเรามี Connection ที่ดีกับหน่วยงานราชการ กงสุล สถานทูต บริษัทเอกชนที่มาลงทุนในไทย และเรายังมีความสัมพันธ์ที่ดีกับธนาคารท้องถิ่นในคุนหมิง"นางกิตติยา กล่าว

นางกิตติยา ยังกล่าวถึงบทบาทของ KTB ในอินโดจีนและจีนตอนใต้ว่า ในช่วง ค.ศ.2010-2012 กลุ่ม ASEAN+China มีการเติบโตของ GDP ที่แข็งแกร่ง โดยปี 2012 เติบโตถึง 5.7% ส่งผลให้รายได้ต่อคนในภูมิภาคสูงขึ้น ขณะที่หนี้สาธารณะของกลุ่ม ASEAN+China อยู่ในระดับต่ำ โดยปี ค.ศ.2012 อัตราส่วนเฉลี่ยหนี้สาธารณะต่อ GDP ของกลุ่ม ASEAN+China อยู่ที่ 41.8% ส่งผลให้มีศักยภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม

ด้านนายสุชาติ เลี่ยงแสงทอง กงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง กล่าวเสริมว่า ปี 55 ซึ่งเป็นปีที่ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่มีการเติบโตของ GDP ชะลอลง ระดับหนี้สาธารณะของกลุ่ม G7 อยู่ในระดับสูง ขณะที่ประเทศจีนนั้น GDP เติบโตถึง 7.8% และมณฑลต่างๆ มีอัตราการเติบโตของ GDP สูงกว่านั้น โดยมณฑลยูนนานมีอัตราเติบโตของ GDP อยู่ที่ 12.4% เป็นอันดับ 2 รองจากมณฑลกุ้ยโจวที่มีอัตราการเติบโตของ GDP ที่ 12.5%

ความโดดเด่นของมณฑลยูนนาน คือ มีพื้นที่ 21,000 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่ากรุงเทพมหานคร 13 เท่า ถึงแม้ยูนนานไม่มีที่ติดทะเล แต่หากมีการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานกับไทย และด้วยความใกล้ชิดด้านเชื้อชาติ วัฒนธรรม ภูมิศาสตร์ จะทำให้ทั้งสองประเทศได้รับประโยชน์ซึ่งกันและกัน

นายสุชาติ กล่าวว่า ประเทศจีนมีแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจใน 10 ปีข้างหน้า 3 ด้าน คือ 1.เปิดตลาดให้กว้างยิ่งขึ้น 2.อนุญาตให้เงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามากขึ้น และ 3.เร่งสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ยังมีแผนพัฒนามณฑลยูนนาน 4 ด้าน คือ 1.ขยายความร่วมมือกับต่างประเทศและต่างมณฑล 2.ส่งเสริมการพัฒนาและเชื่อมโยงการคมนาคมทุกด้านให้มีเส้นทางการค้าเส้นทางการท่องเที่ยว 3.ดึงดูการลงทุนจากต่างประเทศราว 7,000 ล้านดอลลาร์ใน 5 ปีข้างหน้า และดึงดูดเงินลงทุนจากต่างมณฑลราว 1 ล้านล้านหยวนในอีก 5 ปีข้างหน้า และ 4.พัฒนาความร่วมมือเขตเศรษฐกิจข้างพรมแดนเพื่อพัฒนาด้านโลจิสติก

"จีนมีนโยบายชัดเจนจะพัฒนาและเปิดประเทศด้านตะวันตกเป็นโอกาสของทุนจากไทยและจากอาเซียน ซึ่งแม้ว่าเศรษฐกิจจีนในภาพรวมอาจจะชะลอตัวลง แต่การที่มณฑลยูนนานโตถึง 12.4% มณฑลกุ้ยโจวโตถึง 12.5% น่าจะชดเชยกันได้กงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง กล่าว อย่างไรก็ตาม การจะเข้ามาลงทุนในจีนขอแนะนำว่าอย่าบุกเดี่ยว เพราะมีความเสี่ยง และผู้ประกอบการที่จะเข้ามาลงทุนต้องเล่นในสิ่งที่ตัวเองถนัด ต้องหาข้อมูลในสิ่งที่ตัวเองจะไปลงทุน รวมทั้งต้องมีสถาบันการเงินพร้อมให้การสนับสนุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ