KBANK คาดลูกค้า K-Mobile Banking เพิ่มเป็น 7-8 ล้านคน ทุ่มงบพัฒนา IT

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 1, 2014 16:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีรนันท์ ศรีหงส์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดเผยว่า ธนาคารตั้งเป้ารายได้ปี 57 จากการทำธุรกรรมการชำระเงิน การโอนเงิน และเติมเงิน ผ่านธนาคารบนโทรศัพท์มือถือเติบโต 30% จากปี 56 เติบโต 28% ขณะที่คาดว่าฐานลูกค้า K-Mobile Banking จะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 7-8 ล้านรายในปีนี้ จากเดิมอยู่ที่ 6 ล้านราย
"เราคาดว่ายอดการทำธุรกรรมต่างๆผ่านดิจิตอลแบงค์กิ้งน่าจะเติบโตได้ 30% เนื่องจากเศรษฐกิจไม่น่าจะเติบโตได้มากนัก จากเดิมเรามีการคาดการณ์ไว้ตั้งแต่ปีก่อนว่าจะเติบโตได้ 50% ก็คงไม่น่าจะถึง โดยปัจจุบันเรามีลูกค้าธนาคารกสิกรไทยจำนวน 12 ล้านคน ซึ่งจะเพิ่มขึ้นต่อปี 2 ล้านคน โดยเป็นลูกค้าดิจิตอลเซอร์วิสจำนวน 6 ล้านคน ซึ่งแบ่งเป็นฐานลุกค้าทั้งโมบายแบงค์กิ้งและอินเตอร์เน็ตแบงค์กิ้งอย่างละครึ่ง" นายธีรนันท์ กล่าว

ทั้งนี้ ในปีนี้ธนาคารได้ตั้งงบลงทุนไว้จำนวน 400-500 ล้านบาทจากงบลงทุนรวมทั้งสิ้น 1,500 ล้านบาท ภายใน 3 ปี (56-58) โดยจะนำไปใช้ในด้านการพัฒนาระบบไอทีต่อเนื่อง ซึ่งธนาคารกสิกรไทยวางรากฐานโครงสร้างการบริหารงานและเป้าหมายการดำเนินงานไว้ 3 ด้าน คือ การขับเคลื่อนภายในองคืกร ให้เป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมเพื่ออนาคต โดยจัดตั้งฝ่ายงานพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้านนวัตกรรมโดยเฉพาะ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่จำนวน 100 คน ทำหน้าที่วางแผนและพัฒนาบริการด้านดิจิตอล แบงค์กิ้ง และทีมงานด้านการตลาดบนดิจิตอลเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับลุกค้าในเครือข่ายสังคมออนไลน์ ทีมงานพัฒนาระบบเพื่อรองรับบริการใหม่ๆ

ทั้งนี้ ธนาคารได้กำหนดแนวทางการพัฒนาดิจิตอลแบงกิ้งเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจใน 3 ปีข้างหน้า โดยมุ่งตอบสนองพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป เน้นการส่งมอบบริการรวดเร็ว และให้ความสำคัญแก่การพัฒนาบริการธุรกรรมการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะเป็นช่องทางการใช้บริการธนาคารที่ได้รับความนิยมในอนาคต ให้สามารถรองรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยธนาคารฯ จะยกระดับบริการธนาคารบนโทรศัพท์มือถือ ให้ทำธุรกรรมได้ครบวงจร แบบ contactless ทั้งการโอนเงิน ชำระบิลต่าง ๆ รวมทั้งการชำระค่าโดยสารระบบขนส่งสาธารณะ และการซื้อสินค้าออนไลน์ ได้ง่ายดาย เบ็ดเสร็จในเครื่องเดียว เป็นธนาคารแรกในไทย

สำหรับลูกค้าธุรกิจ ธนาคารฯ จะใช้เทคโนโลยีพัฒนาบริการเสริมและต่อยอดบริการที่มีอยู่ให้ธุรกิจของลูกค้าเป็นไปอย่างคล่องตัว อาทิ ธนาคารได้พัฒนาช่องทางดิจิตอลในรูปแบบต่างๆ ที่รองรับความต้องการของผู้ประกอบการธุรกิจ SME โดยเฉพาะ ในรูปแบบของ On-Mobile Platform ซึ่งทำให้ลูกค้าผู้ประกอบการสามารถบริหารจัดการบัญชีส่วนตัวและบัญชีนิติบุคคลบนช่องทางเดียวกันได้ และ On-Cloud Platform เป็นการให้บริการที่รองรับความต้องการพื้นฐานในการดำเนินธุรกิจซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการลงทุนด้านเทคโนโลยีทำให้เริ่มต้นหรือขยับขยายธุรกิจได้อย่างไม่มีข้อจำกัด

ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีโครงสร้างธุรกิจซับซ้อน ธนาคารจะมีการเชื่อมระบบของธนาคารเข้ากับระบบของพันธมิตรทางธุรกิจของลูกค้า เพื่อช่วยให้เกิดการเชื่อมโยงวงจรธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ด้วยการประยุกต์ใช้รูปแบบและประสบการณ์ทางดิจิตอลที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ยังมีการบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยในการทำธุรกรรม โดยจะวางมาตรการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตกับองค์กรและลูกค้าอย่างเข้มงวด ธนาคารมีการปรับปรุงด้านไอทีเพื่อป้องกันกลุ่มมิจฉาชีพและทีมงานดูแลตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนการบริการ K-Cyber Banking ธนาคารมีการเพิ่มความปลอดภัยโดยติดตั้งแอพพลิเคชั่นเฉพาะบนโทรศัพท์มือถือเพื่อเพิ่มระดับความปลอดภัยในการใช้งาน

ธนาคาร ตั้งเป้า 3 ปีของการดำเนินยุทธศาสตร์ภายใต้พันธกิจ “Tomorrow Comes Today เรานำวันพรุ่งนี้ มาให้คุณก่อนใคร" มั่นใจว่าจะสร้างมาตรฐานใหม่ในบริการดิจิตอล แบงกิ้ง ให้ลูกค้าจะได้รับบริการล้ำสมัยที่ตอบรับการใช้งานในชีวิตประจำวันและในธุรกิจควบคู่กับความปลอดภัยสูงสุด และนำไปสู่การเป็น “Main Operating Bank" เป็นธนาคารที่ลูกค้าใช้เป็นธนาคารหลักในทุกด้านทุกเรื่องของไลฟ์สไตล์ทางการเงิน

ณ สิ้นปี 56 ธนาคารกสิกรไทยมีส่วนแบ่งการตลาดดิจิตอลแบงกิ้ง เป็นอันดับ 1 โดยมีจำนวนลูกค้ารายย่อยที่ใช้บริการ K-Mobile Banking และ K-Cyber Banking รวมทั้งสิ้น 2.59 ล้านราย หรือคิดเป็นมาร์เก็ตแชร์ 28% เป็นลูกค้ารายใหม่ที่เข้ามาใช้บริการดิจิตอล แบงกิ้ง เพิ่มขึ้นจากปี 55 ประมาณ 51% โดยมีการทำธุรกรรมผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ต แบงกิ้ง และโมบายล์แบงกิ้ง รวมประมาณ 420 ล้านรายการต่อปี คิดเป็นเม็ดเงินหมุนเวียนกว่า 2 ล้านล้านบาท โดยธุรกรรมที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 คือ ธุรกรรมโอนเงิน ซึ่งมีสัดส่วนถึง 70% รองลงมาจะเป็นการเติมเงินและจ่ายบิลตามลำดับ โดยที่ผ่านมาธนาคารฯใช้งบประมาณในการพัฒนาไอทีทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์สำหรับบริการดิจิตอลแบงกิ้งไปแล้วกว่า 1,472 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ