TRT ลงทุนกว่า 92 ลบ.ร่วมมือพันธมิตรเยอรมันพัฒนาขบวนการอบแห้งหม้อแปลงฯ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday October 9, 2014 14:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.ถิรไทย(TRT)ผนึก Hedrich GmbH ประเทศเยอรมันพัฒนาขบวนการอบแห้งหม้อแปลงไฟฟ้าทันสมัยที่สุดในโลก และเป็นแห่งแรกในโลกที่ใช้ระบบ Vapor Phase ในการอบไล่ความชื้น มาประยุกต์ใช้ร่วมกับวิธีการอบแห้งด้วยความถี่ต่ำ (Low Frequency Heating System) โดยเรียกขบวนการอบไล่ความชื้นแบบใหม่นี้ว่า “Combined Vapour Phase & Low Frequency Drying System for Transformer" ด้วยงบลงทุนกว่า 2 ล้านยูโร

นายสัมพันธ์ วงษ์ปาน กรรมการผู้จัดการ TRT กล่าวว่า บริษัทได้พัฒนากระบวนการผลิตหม้อแปลงขึ้นในขั้นตอนอบไล่ความชื้นภายในตัวหม้อแปลงก่อนที่จะเติมน้ำมันหม้อแปลง ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญยิ่งต่อคุณภาพ และอายุการใช้งานของหม้อแปลงมากยิ่งขึ้น จากปัจจุบันการผลิตหม้อแปลงระบบจำหน่าย (Distribution) จะเป็นวิธีการอบแห่งแบบดั้งเดิม คือการให้อากาศร้อน (Hot Air) ไหลวนรอบ เพื่อไล่ความชื้นออกจากขดลวดหม้อแปลง หรือ แอคทีพพาร์ท (แกนเหล็ก และขดลวด) ซึ่งมีประสิทธิผลที่ดีในระดับหนึ่ง โดยขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของผู้ผลิตที่ใช้ระยะเวลาในการอบที่เหมาะสม กับขนาดหม้อแปลง

จากการที่บริษัทฯ ได้มีการสร้างโรงงานแห่งใหม่เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตหม้อแปลงในระบบจำหน่าย และได้นำองค์ความรู้จากประสบการณ์มากกว่า 15 ปี ในการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังขนาดใหญ่ (Power Transformer) ที่ใช้ระบบ Vapor Phase ในการอบไล่ความชื้นที่ได้รับผลสำเร็จเป็นอย่างดี มาประยุกต์ใช้ร่วมกับวิธีการอบแห้งด้วยความถี่ต่ำ (Low Frequency Heating System) โดยร่วมกับ บริษัท Hedrich GmbH ประเทศเยอรมัน หนึ่งในบริษัทชั้นนำของโลกในขบวนการออกแบบสร้างเครื่องจักรของระบบควบคุมการอบแห้ง

บริษัทได้ร่วมกับ Hedrich GmbH ศึกษา และออกแบบระบบกระบวนการอบไล่ความชื้นแบบใหม่ที่มีชื่อเรียกกว่า “Combined Vapour Phase & Low Frequency Drying System for Transformer" ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 2,229,000 ยูโร หรือประมาณ 92 ล้านบาท โดยใช้ระยะเวลาในการออกแบบ และติดตั้งประมาณ 8 เดือน

“และเมื่อโรงงานแห่งใหม่นี้สร้างเสร็จ จะเป็นโรงงานต้นแบบแห่งแรกของโลกที่ใช้ระบบการอบไล่ความชื้นหม้อแปลงในระบบใหม่ ที่ทันสมัย และมีคุณภาพที่ดีที่สุด และจะส่งผลให้ผู้บริโภค และประเทศชาติ ได้ใช้หม้อแปลงไฟฟ้าคุณภาพสูงขึ้น และมีอายุการใช้งานที่ยาวนานมากกว่า 25 ปี และยังสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา และการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันได้มากกว่า 30% และจะสามารถประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้มากกว่า 20% และยังช่วยพัฒนาสร้างองค์ความรู้ในกระบวนการอบแห้ง แก่วิศวกร และบุคลากรรุ่นใหม่ๆ เพื่อต่อยอดอุตสาหกรรมหม้อแปลง และอุตสาหกรรมอื่นๆ ต่อไป ทั้งนี้บริษัทฯ คาดว่าจะสามารถทำยอดขายในตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้นได้อีก 20%"นายสัมพันธ์ กล่าว

นอกจากนี้ ในเดือน ต.ค.57 บริษัทยังได้รับงานจากสหภาพเมียนมาร์ ในการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าระดับแรงดันสูง 230 kV มูลค่างานรวมกว่า 5,150,000 US. และยังได้รับงานในการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายจำนวน 380 ยูนิต จากการไฟฟ้านครหลวงอีกกว่า 310 ล้านบาทอีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ