NCL ตั้งเป้าปี 58 รายได้โตกระโดดรับแผนเพิ่มรถ-เปิดสำนักงานตปท.-ได้ลูกค้าใหม่

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 4, 2014 16:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติ พัวถาวรสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอ็นซีแอล อินเตอร์เนชั่นแนล โลจิสติกส์(NCL) ตั้งเป้ารายได้ในปี 58 เติบโตอย่างก้าวกระโดด หลังจากมีแผนนำเงินส่วนหนึ่งที่ได้จากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก(IPO)ไปใช้ซื้อรถหัวลากและหางลากเพิ่มเติมอีกเท่าตัว รวมทั้งสำรองเป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อเพิ่มศักยภาพในการให้บริการ หลังได้"หลินหลง"ผู้ผลิตยางรายใหญ่จากจีนเข้ามาเป็นลูกค้ารายใหม่ และขยายบริการด้านโลจิสติกส์สู่ตลาดโลก
"แม้ผลประกอบการในปีนี้จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางการเมือง ทำให้คาดว่ารายได้และกำไรคงจะทรงตัวจากปี 56 ที่มีรายได้กว่า 900 ล้านบาท และกำไรราว 40 ล้านบาทจากปกติที่เคยโตต่อเนื่องปีละ 20-30% โดยงวด 6 เดือนแรกของปี 57 บริษัทมีรายได้รวม 488.49 ล้านบาท กำไรสุทธิ 16.36 ล้านบาท และในไตรมาส 3/57 น่าจะชะลอตัวลงตามกิจกรรมทางธุรกิจที่หยุดชะงักไปช่วงหนึ่งหลังรัฐประหาร แต่ก็เชื่อว่าไตรมาสที่ 4 น่าจะดีขึ้น และจะฟื้นตัวอย่างชัดเจนในปีหน้ามาเติบโตได้ค่อนข้างมาก"นายกิตติ กล่าว

ทั้งนี้ NCL เป็นผู้ให้บริการด้านการจัดการระบบโลจิสติกส์แบบครบวงจร ทั้งบริการขนส่งภายในประเทศ และจัดการขนส่งระหว่างประเทศ บริหารจัดการขนส่งสินค้าไปยังจุดหมายปลายทางในประเทศต่างๆ กว่า 180 ประเทศทั่วโลก ประกอบกับมีประสบการณ์ด้านโลจิสติกส์กว่า 18 ปี โดยบริษัทจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 95 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 22.62% หลัง IPO มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.25 บาท ในราคาหุ้นละ 1.80 บาท ช่วงวันที่ 3-5 พ.ย.และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ(mai) วันที่ 11 พ.ย.57

"บริษัทจะขยายธุรกิจขนส่งด้วยรถหัวลาก-หางลาก รวมทั้งเปิดจุดบริการรับส่งสินค้าเพิ่มขึ้นอีก 2 แห่งภายในปี 58 ได้แก่ จุดให้บริการที่จังหวัดสงขลา เพื่อให้บริการรับส่งสินค้าในเส้นทางระหว่างท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือสงขลา หรือท่าเรือปีนัง และที่จังหวัดอุดรธานีให้บริการรับส่งสินค้าในเส้นทางจากท่าเรือแหลมฉบัง เป็นการรองรับการเติบโตของกลุ่มลูกค้าเดิมและเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าที่จะผ่านประเทศไทยภายหลังจากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC)"นายกิตติ กล่าว

ปัจจุบันบริษัทมีรถหัวลาก-หางลาก 50 คัน ซึ่งจะเพิ่มจำนวนเป็น 100 คันภายในปี 58 ภายใต้งบลงทุนที่ตั้งไว้ 160-270 ล้านบาทตามแผนเพิ่มจำนวนอีก 50-100 คันในอนาคต พร้อมทั้งมีแผนตั้งสำนักงานในต่างประเทศแห่งแรกในสิงคโปร์ต้นปีหน้า ซึ่งเป็น Hub ด้านการขนส่งในภูมิภาค เพื่อขยายโอกาสรับงานในระดับนานาชาติเพิ่มขึ้น และยังมองการเพิ่มช่องทางในตะวันออกกลางด้วย

"มูลค่าตลาดรวมของโลจิสติกส์ในประเทศไทยปีหนึ่ง ๆ มากกว่า 1.7 แสนล้านบาท NLC ยังมีส่วนแบ่งแค่ไม่ถึง 1% โอกาสที่จะเติบโตยังมีอีกมาก โดยเฉพาะเมื่อเรามีเงินทุนเข้ามาเพิ่มขึ้น เพราะผลสำเร็จของบริการของเราคือช่วยลดต้นทุนการขนส่งให้กับลูกค้าลงได้มาก และมีลูกค้าเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตอนนี้ลูกค้ารายใหญ่ของเราคือ ข้าว ยาง เครือบุญรอดฯ อินโดรามา แม็กซิส เราเพิ่งได้ลูกค้ารายใหญ่เข้ามาอีก คือ ซานตงหลิงหลง ผู้ผลิตล้อยางรถยนต์รายใหญ่จากจีนที่จะเข้ามาลงทุนมหาศาลในประเทศไทย"นายกิตติ กล่าว

นอกจากนั้น บริษัทจะนำเงินส่วนหนึ่งจากการขาย IPO ไปชำระคืนหนี้สถาบันการเงิน เพื่อเพิ่มศักยภาพของบริษัทให้มีความแข็งแกร่ง คาดว่าอัตราหนี้สินต่อทุน(D/E)ของบริษัทจะลดลงเหลือต่ำกว่า 1 เท่า จากเกือบ 2 เท่าในปี 55 และในอดีตเคยสูงไปถึง 5 เท่า แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทมีนโยบายที่จะบริหาร D/E ไว้ที่ราว 2 เท่า เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการเติบโตเป็นบริษัทโลจิสติกส์ในระดับโลก

ส่วนการถือหุ้นของ บริษัท เค-เอสเอ็มอี จำกัด ราว 60 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 14.29% นั้น นายกิตติ กล่าวว่า ได้รับการยืนยันจากทางกองทุนข้าวกล้าว่ายังไม่มีแผนจะขายหุ้น NCL ออกมา และหุ้นส่วนหนึ่งติดระยะเวลาห้ามขาย(ไซเรนต์พีเรียด)จำนวน 20 ล้านหุ้น เพราะปกติแล้วทางกองทุนจะถือหุ้นในกิจการต่าง ๆ ในช่วงเวลา 3-5 ปี ซึ่งกรณีของ NCL ก็เพิ่งเข้ามาลงทุนในปี 55


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ