"บางกอกชีท เม็ททัล"คาดยื่นไฟลิ่ง ก.ล.ต.เพื่อเข้าตลาดหุ้นภายในปีนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 19, 2015 13:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธานิน สัจจะบริบูรณ์ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. บางกอกชีท เม็ททัล (BM) กล่าวถึงความคืบหน้าในการเข้าจดทะเบียนเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ว่า ภายหลังจากบริษัทแต่งตั้งให้ บริษัทแอสเซทโปร แมเนจเม้นท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการเตรียมข้อมูลเพื่อจะแปรสภาพบริษัทเป็นบริษัทจดทะเบียนจากบริษัทจำกัดเป็นบริษัทมหาชน หลังจากนั้นก็จะทำการยื่นนำเสนอข้อมูลให้กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งโดยกระบวนการดังกล่าวคาดว่าน่าจะดำเนินการภายในปีนี้ได้

ทั้งนี้ BM เป็นผู้นำในการผลิต แปรรูปผลิตภัณฑ์เหล็ก รางและท่อร้อยสายไฟฟ้า สื่อสาร ตู้ไฟฟ้า ตู้โลหะ และ แผงควบคุมไฟฟ้า ที่ใช้ตาม อาคาร คอนโด และ ที่อยู่อาศัย ภายใต้แบรนด์ BSM

สำหรับทิศทางของรายได้บริษัทในปี 58 คาดว่าน่าจะทำรายได้อยู่ที่ 800-900 ล้านบาท และคาดว่าน่าจะมีรายได้เติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 25- 30%เมื่อเทียบกับปี 57 ที่ผ่านมาที่มีรายได้อยู่ที่ 700 ล้านบาท โดยบริษัทมีกลยุทธ์ที่จะจับกลุ่มลูกค้าผู้รับเหมาก่อสร้างที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยเฉพาะในย่านนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการใช้เหล็กแปรรูปที่เป็นโครงเหล็ก โดยทางบริษัทจะมีการจัดเตรียมผลิตภัณฑ์แบบเชื่อมต่อประกอบสำเร็จรูป ซึ่งจะสะดวกต่อผู้รับเหมาและลูกค้าในการติดตั้ง โดยไม่ต้องใช้สถานที่เชื่อมประกอบในบริเวณพื้นที่ก่อสร้างของโรงงานลูกค้า

นายธานิน กล่าวถึงการประกาศลดราคาสินค้ากว่า 6 รายการของกระทรวงพาณิชย์ว่า สินค้าประเภทเหล็ก ไม่ว่าจะเป็นเหล็กเส้น เหล็กแผ่น หรือเหล็กรูปพรรณ จะมีการทยอยปรับลดราคาลงได้ประมาณ 5-15 เปอร์เซ็น โดยเฉพาะเหล็กเส้น ที่จะสามารถลดราคาได้ทันที ส่วนเหล็กแผ่น และเหล็กรูปพรรณอื่นๆ น่าจะทยอยลดราคาได้ในเร็วๆ นี้

“กว่า 70 เปอร์เซ็นของราคาสินค้า เป็นราคาของเหล็กก่อนนำมาแปรรูป เมื่อรัฐบาลออกมาตรการลดราคาเหล็กที่เป็นต้นทุนสำคัญลง ราคาของสินค้าก็สามารถลดลงได้ประมาณ 5-15 เปอร์เซ็น ซึ่งนับว่าเป็นผลดีต่อผู้สั่งผลิตสินค้าของบริษัทฯ รวมถึงลูกค้ารายย่อย ที่จะได้ใช้เหล็กในราคาที่ถูกลง และยังส่งผลดีต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ และมีความได้เปรียบกว่าประเทศใน AEC โดยเฉพาะกรณีนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะญี่ปุ่น ที่ต้องการผู้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและราคาไม่แพง แต่เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยมีต้นทุนราคาเหล็กที่สูงกว่าตลาดโลก ทำให้ต่างชาติเบนความสนใจไปที่ประเทศคู่แข่งที่มีราคาสินค้าต่ำกว่า แม้เราจะมีจุดเด่นในเรื่องของคุณภาพและฝีมือแรงงานที่ดีกว่าก็ตาม" นายธานิน กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ