AMATA คาดงบ"ลันถั่น"เพิ่มหลังเวียดนามปรับเกณฑ์,รายได้ตปท.หนุนธุรกิจโต

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 4, 2015 10:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บมจ.อมตะ วีเอ็น(AMATAVN)ในกลุ่ม บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชั่น(AMATA)ยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจในเวียดนาม แม้ล่าสุดมูลค้าลงทุนโครงการเพื่อพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ลัมถั่น(Long Thanh)เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์ที่ 530 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากรัฐบาลเวียดนามเปลี่ยนปลงกฎเกณฑ์การลงทุนหลายด้าน และส่งผลต่อการเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯอาจต้องเลื่อนออกไปจากไตรมาส 2/58 แต่ยังยืนยันที่จะนำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯภายในปีนี้

นางสมหะทัย พานิชชีวะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อมตะ วีเอ็น(AMATAVN)คาดว่าการขยายลงทุนโครงการดังกล่าวจะทำให้สัดส่วนรายได้จากต่างประเทศของกลุ่ม AMATA เพิ่มขึ้นมากจากระดับ 15% ในปัจจุบัน ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนในปี 60

“รายได้จากต่างประเทศตอนนี้มีเฉพาะของเบียนหัว ซึ่งถือว่าไม่เยอะประมาณ 15% ของอมตะกรุ๊ป...ส่วนจะเห็นรายได้จากต่างประเทศเข้ามาเยอะๆคงจะอีกสัก 1-2 ปี"นางสมหะทัย กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

นางสมหะทัย กล่าวว่า การขยายงานของกลุ่มอมตะขณะนี้จะมุ่งเน้นที่เวียดนามเป็นหลัก โดยเฉพาะการพัฒนาโครงการใหม่"อมตะซิตี้ลัมถั่น"จ.ดองไน คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จในปีหน้า แม้ว่าทางการเวียดนามได้มีการเปลี่ยนกฎเกณฑ์การลงทุนค่อนข้างมาก ทำให้ขณะนี้ยังไม่สามารถคาดการณ์ระยะเวลาการเปิดโครงการดังกล่าวได้อย่างเป็นทางการ

ทั้งนี้ กฎเกณฑ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงมีผลกระทบต่อการจัดทำมาสเตอร์แพลนและแผนผัง รวมทั้งเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาโครงการ และอาจทำให้มูลค่าลงทุนสูงขึ้นจากเดิมเคยคาดการณ์ไว้ระดับ 530 ล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมกันนั้นการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯอาจจะต้องเลื่อนออกไปจากไตรมาส 2/58 แต่บริษัทยังยืนยันที่จะนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯให้ได้ภายในปีนี้

"เราอยากจะระดมทุนให้มากที่สุด การใช้เงินก็จะเริ่มภายในปีนี้...เรายังไม่รู้ว่าจะระดมทุนเท่าไหร่เพราะมาสเตอร์แพลนก็ยังไม่จบ ทำให้คาดการณ์ยากว่าจะออกมารูปแบบไหน ถนนหนทางก็ต้องคุยกับฝ่ายราชการที่โน่นอีกมาก เราพยายามที่จะเอาเรื่องของใบอนุญาตให้เสร็จภายในปีนี้ เร็วสุดก็ประมาณไตรมาส 3 ถ้ากฎหมายยังเปลี่ยนแปลงอีก ก็มีสิทธิที่จะโดน delay"นางสมหะทัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม กลุ่มอมตะฯ ยังยืนยันที่จะขยายงานในเวียดนามต่อไปแม้จะมีอุปสรรคจากการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ดังกล่าวบ้าง เพราะเห็นว่าเวียดนามมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปีละ 6% เมื่อเทียบกับไทยที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปีละ 1% เท่านั้น อีกทั้งรัฐบาลเวียดนามมุ่งมั่นจะมีพันธมิตรการลงทุนทีดีกับต่างประเทศ รวมทั้งยังมีเงินช่วยเหลือด้านสาธารณูปโภคเข้าสู่เวียดนามอีกจำนวนมากด้วย

ปัจจุบัน AMATA มีนิคมอุตสาหกรรมในไทย 2 แห่ง ได้แก่ อมตะนคร ในจ.ชลบุรี และอมตะซิตี้ ในจ.ระยอง ขณะที่มีนิคมอุตสาหกรรม 1 แห่งในเวียดนาม ภายใต้ชื่ออมตะ เบียนหัวงดำเนินการโดย AMATAVN ที่มีกลุ่ม AMATA ถือหุ้นราว 87% โดยอมตะ เบียนหัว ยังคงมีพื้นที่รอการขายอีกราว 60 เฮคแตร์

เมื่อปีที่แล้ว AMATA ได้เปิดตัวโครงการ"อมตะซิตี้ลัมถั่น"ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรม แบ่งพื้นที่เป็น 3 โซนหลัก ได้แก่ โซนที่ 1 สวนอุตสาหกรรมไฮ-เทค , โซนที่ 2 เซอร์วิส ทาวน์ชิพ เน้นก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคครบวงจรสำหรับการบริการ และโซนที่ 3 เมกะ ทาวน์ชิพ เน้นการให้บริการด้านสันทนาการและความบันเทิง มูลค่าลงทุนราว 530 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะใช้เวลาพัฒนาโครงการ 10-15 ปี

นางสมหะทัย กล่าวด้วยว่า นอกจากนั้นแล้วกลุ่มอมตะยังให้ความสนใจการเข้าไปลงทุนในพม่า โดยมีการเจรจาบ้างแล้วแต่ยังมีหลายประเด็นที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ โดยพม่าก็มีความน่าสนใจเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ก็ยังข้อที่น่ากังวลเป็นเรื่องการเมือง กฎหมาย และระบบสาธารณูปโภค อย่างไรก็ตามเชื่อว่าการจะเข้าไปลงทุนในพม่าก็คงจะใช้เวลาไม่นานเช่นกัน หากสามารถทำความชัดเจนในเรื่องข้อกังวลต่างๆได้

สำหรับการขยายงานในต่างประเทศจะช่วยหนุนการเติบโตของบริษัท หลังปัจจุบันฐานการผลิตในประเทศจะเริ่มลดน้อยลง แม้ว่าโอกาสการเติบโตจากนิคมอุตสาหกรรมภายในประเทศยังคงมีอยู่ เพราะมีศักยภาพและทำเลที่ดีของการเป็นศูนย์กลางอาเซียน แต่การเติบโตนั้นจะต้องเป็นการต่อยอดจากฐานการผลิตมาเป็นฐานของนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อดึงดูดให้มีการลงทุนที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น

แต่การจะพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการเป็นฐานของนวัตกรรมใหม่ๆนั้น ยังต้องอาศัยภาครัฐบาลในการให้สิทธิประโยชน์มากเพียงพอเพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุน ทั้งในด้านของการทำงานวิจัยและพัฒนา(R&D) การนำบุคคลากรเข้ามาดำเนินการ รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ที่พัฒนาพื้นที่ด้วย

"ไทยยังมีโอกาสอีกหลายอย่างที่จะทำได้ ในเรื่องการต่อยอดจากการที่เราเป็นฐานการผลิตก็มาเป็นฐานของนวัตกรรมที่เป็นการต่อยอดที่การผลิตจะน้อยลง ก็เพิ่มนวัตกรรมให้มากขึ้น การเติบโต 2-3 เท่าตัวจากพื้นที่ที่เท่ากันของฐานการผลิต แต่ตรงนี้เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย...สิ่งที่เราอยากทำคือเราจะสสร้างเมืองวิทยาศาสตร์ ทำ R&D และติดไปด้วยของเรื่องการผลิต"นางสมหะทัย กล่าว

สำหรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนของรัฐบาลนั้น เบื้องต้นบริษัทยังไม่ได้ศึกษามากนัก เพราะยังมีโครงการพัฒนาในต่างประเทศอยู่มาก ขณะที่ยังต้องศึกษาว่าการจะพัฒนาพื้นที่ในบริเวณดังกล่าวนั้น ตอบโจทย์กับกลุ่มลูกค้าของกลุ่มอมตะหรือไม่อย่างไรด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ