(เพิ่มเติม) STHAI คาดกลับเข้าเทรด Q1/59 หลังเพิ่มทุนอีกรอบ/ศึกษาตั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday July 7, 2015 17:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศุภชัย สุกาญจนาภรณ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ซันไทยอุตสาหกรรมถุงมือยาง(STHAI) เปิดเผยแผนการดำเนินงานครึ่งปีหลังว่า บริษัทมุ่งเน้นการปรับปรุงประสิทธิภาพเครื่องจักรและสายการผลิต เพื่อลดต้นทุนการดำเนินงานและเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยตั้งเป้าหมายผลประกอบการปีนี้พลิกกลับเป็นกำไร และคาดว่าจะสามารถกลับมาทำการซื้อขายในหมวดปกติได้ภายในไตรมาส 1/59

สำหรับการปรับปรุงฐานะทางการเงินของบริษัทในช่วงที่ผ่านมาได้มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 3,995 ล้านบาท เป็น 19,978 ล้านบาท โดยมีการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนเสนอขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิมเสร็จสิ้นไปแล้วเป็นเงินจำนวนประมาณ 600 ล้านบาท และจะเพิ่มทุนอีกครั้งเป็นเงินจำนวนประมาณ 600 ล้านบาทในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้

ทั้งนี้ เงินที่ได้รับจากการเพิ่มทุนดังกล่าว บริษัทจะนำไปใช้สำหรับการชำระหนี้เพื่อลดต้นทุนทางการเงิน ปรับปรุงกระบวนการผลิต ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน และ อาจนำไปลงทุนในธุรกิจใหม่ด้านพลังงาน ซึ่งจะสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าในปัจจุบันให้กับผู้ถือหุ้น ซึ่งจะสร้างการเติบโตทางธุรกิจให้กับบริษัทต่อไปในอนาคต

ขณะที่บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางลดต้นทุนด้านพลังงานเพิ่มเติม อาทิ การลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวลเพื่อนำมาใช้ในโรงงาน การลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆนี้

นายธราพงษ์ วิทิตศานต์ ประธานกรรมการ STHAI กล่าวว่า การลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวล นอกเหนือจะนำพลังงานมาใช้ในโรงงานแล้ว อาจจะมีการกำลังผลิตส่วนที่เหลือออกไปด้วย เบื้องต้นจะมีกำลังการผลิตขั้นต่ำที่ 10 เมกะวัตต์ใช้งบลงทุนราว 600 ล้านบาท โดยเตรียมสรุปการแผนดังกล่าวภายในไตรมาส 3/58 และจะใช้ระยะเวลาการพัฒนาโครงการราว 1 ปี

"แถวโรงงานของเราอาจมีสายไฟที่ไกล และหากมีพายุก็ทำให้ไฟดับอยู่ตลอด เราก็ได้มีการติดต่อการไฟฟ้าไปแล้ว เขาก็ช่วยเรามากแล้ว เราก็ต้องช่วยเขาบ้าง เราก็เลยมองว่าโรงไฟฟ้าชีวมวลก็เป็นสิ่งที่เราทำได้เพราะเราอยู่ในจุดมีวัตถุดิบที่สามารถไปใช้เผาได้ ซึ่งจะมาช่วยลดต้นทุนด้านพลังงาน และช่วยชาวบ้านแถวนั้นได้ด้วย แต่ตอนนี้ก็ยังอยู่ในขั้นศึกษา เรามองว่าคงใช้เวลาราว 1 ปี ในการพัฒนาโครงการ"นายธราพงษ์ กล่าว

นายธราพงษ์ กล่าวอีกว่า บริษัทตั้งเป้าปีนี้จะมีรายได้ราว 900 ล้านบาท จากปีก่อนมีรายได้ 859.92 ล้านบาท และจะพลิกมีกำไรสุทธิในปีนี้อย่างแน่นอน แม้ช่วงไตรมาส 1/58 จะมีผลขาดทุนสุทธิ 20.88 ล้านบาท โดยหลังจากที่ทีมงานใหม่ได้เข้ามาดำเนินกิจการแทนกลุ่มผู้บริหารเดิมตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1/58 ก็ได้เริ่มปรับปรุงเครื่องจักร คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมดในปลายไตรมาส 3/58 จะส่งผลให้มีกำลังการเพิ่มขึ้นเป็น 70-80 ล้านชิ้น/เดือน จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตที่ 50-60 ล้านชิ้น/เดือน ประกอบกับ วัตถุดิบก็มีราคาที่ลดลงในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ บริษัทคาดจะมีอัตรากำไรสุทธิกลับมาอยู่ในระดับปกติที่ 10% ตั้งแต่ไตรมาส 3/58 เป็นต้นไป และทั้งปี 59 อัตรากำไรสุทธิเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ 10% โดยบริษัทคาดว่าจะมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 80% จากปีก่อนที่ 70% ซึ่งรายได้จากต่างประเทศมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงถึง 30% เมื่อเทียบกับการขายในประเทศที่มีอัตรากำไรขั้นต้น 10% นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงในการผลิต และปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงต้นทุนด้านวัตถุดิบที่ลดลง จะช่วยให้อัตรากำไรสุทธิกลับมาสู่ระดับปกติ

นอกจากนี้บริษัทตั้งเป้าที่จะล้างขาดทุนสะสมทั้งหมดที่มีอยู่กว่า 900 ล้านบาทได้หมดในปี 59 โดยจะใช้ผลกำไรจากผลการดำเนินงาน และอาจมีการลดทุนจดทะเบียน

"ปีนี้เรามั่นใจว่าผลประกอบการจะออกมาเป็นมีกำไรสุทธิอย่างแน่นอน แม้ไตรมาส 1/58 ที่ผ่านมาจะยังขาดทุน แต่จะเริ่มเห็นผลการดำเนินงานเป็นกำไรสุทธิตั้งแต่ไตรมาส 2/58 เป็นต้นไป เพราะเราได้มีการปรับปรุงเครื่องจักรใหม่ และเน้นการลดต้นทุนในการผลิต ในขณะเดียวกันคำสั่งซื้อก็เข้ามาค่อนข้างมาก แต่กำลังการผลิตเราไม่พอ แต่หลังจากไตรมาส 3/58 ไปแล้วกำลังการผลิตเราก็จะขึ้น ช่วยให้เรามีภาพรวมผลประกอบการออกมาในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลังจากที่ผลประกอบการปรับตัวดีขึ้เราก็จะนำเงินดังกล่าวไปใช้ในการล้างขาดทุนสะสม โดยเราตั้งเป้าหมายที่จะล้างขาดทุนสะสมทั้งหมดในปี 59 "นายธราพงษ์ กล่าว

นายธราพงษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการกลับมาซื้อขายของหุ้น STHAI ครั้งนี้ คาดว่าจะเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ(mai) จากก่อนหน้านี้หุ้น STHAI ซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET) เนื่องจากขณะนี้มีข้อจำกัดในการซื้อขายใน SET ที่ต้องมีผลกำไรไม่ต่ำกว่า 60 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ