(เพิ่มเติม) DTAC ทุ่มงบขยายโครงข่าย4G ปี59ใกล้ปีนี้ 2 หมื่นลบ.,เป้าเพิ่มลูกค้า4G

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday December 22, 2015 15:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) หรือดีแทค กล่าวว่า บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ได้พยายามอย่างเต็มที่ในการประมูลคลื่น 900 MHz แต่การไม่ได้คลื่นจากการประมูลครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อแผนงานและเป้าหมายทางธุรกิจของดีแทคในการเป็นผู้นำการให้บริการ 4G และ 3G เพื่อรองรับการใช้งานอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงแต่อย่างใด
"แม้เราไม่ได้เป็นผู้ชนะการประมูลทั้งคลื่น 1800 MHz และ คลื่น 900 MHz แต่หลังการประมูล ดีแทคก็ยังคงมีคลื่นเท่าเดิม และมีมากเพียงพอที่จะให้บริการไม่แพ้กันกับผู้ชนะประมูล เราไม่ได้เสียคลื่นความถี่ เราให้บริการได้พอๆกันหรือมากกว่าคู่แข่ง ที่สำคัญเราไม่ได้สร้างหนี้เพิ่มจากค่าไลเซ่นส์ที่มีมูลค่ามหาศาล ทำให้ดีแทคสามารถมีเงินลงทุนมากพอที่จะขยาย Network รองรับได้ต่อเนื่อง"นายลาร์ส กล่าว

ปัจจุบัน ดีแทคยังถือครองคลื่นความถี่เพื่อให้บริการทั้ง 2G 3G และ 4G อยู่มากถึง 35-40% ของภาพรวมคลื่นความถี่ที่นำออกมาให้บริการ และจะยิ่งรุกลงทุนเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยดีแทคจะยังเร่งขยายโครงข่ายการให้บริการ 4G อยู่คลื่นความถี่ 1800MHz บนแบนด์วิธที่กว้างถึง 15 MHz และ 4G บนคลื่นความถี่ 2100 MHz ครอบคลุมพื้นที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และอีกมากกว่า 40 จังหวัดทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ดีแทคจะขยายเพิ่มโครงข่าย 4G บนคลื่น 1800 MHz ในพื้นที่ต่างจังหวัดอีก 2,200 สถานีให้แล้วเสร็จ ภายในช่วงแรกของต้นปีหน้า และจะขยายเพิ่มพื้นที่การให้บริการ 4G บนคลื่น 2100 MHz ให้ครอบคลุมทั่วทุกจังหวัดทั่วประเทศภายในครึ่งปีแรกของปีหน้า ขณะเดียวกันจะอัพเกรด 2G เป็น 4G เพื่อให้มีความเร็วมากขึ้น ทั้งนี้การพัฒนาโครงข่ายเป็น 4G ทั่วประเทศถือว่าคุ้มค่า

ด้านนายซิคเว้ เบรคเก้ ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เทเลนอร์กรุ๊ป เปิดเผยว่า DTAC ตั้งเป้าจะเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการ 4G เป็น 4.5 ล้านรายในปี 59 จากจำนวนผู้ใช้บริการ 2.2 ล้านรายในขณะนี้ โดยเตรียมแผนการตลาดเชิงรุกเพื่อกระตุ้นตลาดผู้บริโภคให้เปลี่ยนผ่านการใช้งานในระบบ 4G และ 3G ทั้งตลาด โดยดีแทคคาดว่าจะมีลูกค้าใช้งานอินเทอร์เน็ตถึง 80% ของทั้งเครือข่ายดีแทคในปี 60 เพิ่มจากปี 59 ที่คาดใช้งาน อยู่ที่ 70% และปีนี้ที่ 60%

นายลาร์ส กล่าวว่า ในปี 59 ดีแทคยังเน้นการขยายโครงข่าย 4G และ ไฮสปีด 4G ที่มีความเร็วสูงกว่า 100 Mbps บนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะนำบริการนี้ไปยังหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัดในต้นปีหน้า และจะขยาย 4G ครอบคลุมทั้งประเทศ ซึ่งจะเห็นสงคราม 4G อย่างแน่นอน ทั้งนี้ในปี 59 คาดว่าจะใช้เงินลงทุนขยายโครงข่าย 4G ใกล้เคียงปีนี้ที่ใช้งบ 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งขยายโครงข่าย 3G ได้ครอบคลุมเกิน 90% แล้ว และจะถึง 94-95% ในต้นปี 59

"ผู้ถือหุ้นใหญ่ของดีแทค (กลุ่มเทเลนอร์) มุ่งมั่นตั้งใจในการลงทุนในประเทศไทยจริงจัง จะเห็นได้จากการลงทุน Network ซึ่งปีนี้ลงทุนไปแล้ว 2 หมื่นล้านบาท กลุ่มเทเลนอร์ไม่ถอนการลงทุนในไทย ส่วนการประมูลคลื่น 900 MHz เราได้พยายามสูงสุด สู้ไปถึง 7 หมื่นล้านบาท ...ถ้าคู่แข่งชนะประมูลจะชนะดีแทคเป็นความคิดที่ผิด หลังจากนี้จะได้เห็นดีแทคสู้แบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน" นายลาร์ส กล่าว

นายลาร์ส กล่าวมั่นใจว่า ตำแหน่งอันดับ 2 ของดีแทคยังแข็งแกร่ง และยังมีช่วงห่างจากทรู ซึ่งเป็นอันดับ 3 ทั้งนี้ดีแทคไม่กังวลว่า ลูกค้าจะไหลออกไปค่ายอื่น ดีแทคจะทำให้ลูกค้าเข้าใจว่าการไม่ชนะการประมูลไม่ใช่ว่าจะทำธุรกิจไม่ดี เพราะก่อนและหลังการประมูล ดีแทคยังมีจำนวนคลื่นเท่าเดิมคือ 50 MHz โดยแบ่งเป็น ย่านความถี่ 850MHz มี 10 MHz ,ย่านความถี่ 1800 MHz มี 25 MHz และย่านความถี่ 2100MHz มี 15 MHz ซึ่งมั่นใจว่าดีแทค จะมีความสามารถการแข่งขันไม่น้อยหน้ารายอื่น โดยปัจจุบัน ดีแทคมีฐานลูกค้า 25 ล้านราย

"ในแง่ Revenue market share เรายังมี gap กับ ทรู พอสมควร position อันดับ 2 ของเรายังถือว่า strong" นายลาร์ส กล่าว

นอกจากนี้ ดีแทคอยู่ระหว่างเจรจากับบมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) ร่วมบริหารคลื่น 1800 MHz ที่ไม่ได้ใช้คลื่น 20 MHz มาพัฒนาเป็น 4G LTE อย่างไรก็ดียังไม่มีข้อสรุป ขึ้นอยู่กับ CAT

นายลาร์ส เชื่อว่ารัฐบาลจะเปิดประมูลคลื่นความถี่ต่อไป เพราะเห็นแล้วว่าคลื่นมีมูลค่ามากและสามารถสร้างรายได้ให้ภารครัฐ และต้องการให้ภาครัฐมีการบรรจุแผนบริหารคลื่นความถี่ หรือโรดแมป เพื่อนำคลื่นความถี่มาใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ และบรรจุแผนประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 1800MHz 850MHz 700 MHz และ 2600 MHz อย่างชัดเจน ขณะเดียวกันดีแทคมีเวลา 3 ปีเตรียมพร้อมเข้าประมูลคลื่น 1800 MHz ที่จะหมดอายุสัมปทานในปี 61 ซึ่งบริษัทเตรียมพร้อมเข้าประมูล และราคาประมูลจะต้องเป็นไปอย่างเหมาะสม

ดีแทคและกลุ่มเทเลนอร์ได้ลงทุนในไทยมากกว่า 10 ปี ได้ผ่านรัฐบาลหลายยุคหลายสมัย ทั้งรัฐประหาร ก็เคยผ่านมาแล้ว ดังนั้นไม่ได้กังวลว่ารัฐบาลใหม่จะไม่เปิดประมูลคลื่นความถี่

นายลาร์ส ให้ความเห็นกับบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด รายใหม่ที่เข้ามาในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมว่า จะต้องมีภาระการลงทุนโครงข่ายรวมทั้งเสาโทรคมนาคม นอกเหนือเงินค่าประมูลที่สูงถึงกว่า 7 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ดี ดีแทคยังไม่มีแผนเข้าเจรจาเป็นพันธมิตรกับ แจสโมบายฯ ขณะที่ ดีแทคเปิดกว้าง หากเอไอเอสจะเจรจาโรมมิ่งคลื่น 1800 MHz

ขณะเดียวกัน เห็นว่าตลาดมือถือในปีหน้าจะแข่งขันสูง คงไม่ใช้เพียงเรื่องราคา จะเป็นการนำเสนอแพกเกจที่เป็นประโยชน์กับลูกค้า ดีแทคก็พร้อมจะสู้ ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ